"สมอง เสื่อม" หมอธีรวัฒน์หรือหมอดื้อ เตือนภัยใกล้ตัว คนที่ชอบนอนงีบบ่อย ๆ งีบนาน ๆ ชี้ เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมโดยไม่รู้ตัว
ข่าวที่น่าสนใจ
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยโรคร้ายใกล้ตัวอย่างโรค “สมอง เสื่อม” เกิดได้จากพฤติกรรมที่หลายคนชอบทำโดยไม่รู้ตัวว่าอันตรายกว่าที่คิด โดยระบุว่า การงีบนอนช่วงกลางบ่อย ๆ เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมจริง ทั้งนี้ไม่ทราบกลไกชัดเจน
จากการศึกษาก่อนหน้านี้ สมองของคนอัลไซเมอร์ พบว่า มีการเสื่อมสลายของกลุ่มเซลล์ที่กระตุ้นให้ตื่น จากการตรวจจีโนมของประชากรประมาณ 450,000 ราย พบ 123 ตำแหน่งที่สัมพันธ์กับการงีบหลับกลางวันบ่อย และเชื่อมโยงกับสภาวะสุขภาพแย่และสมองเสื่อม
การติดตามประชากรตั้งแต่ปี 2005 ถึง 2020 อายุเฉลี่ย 81.4 ปีเป็นจำนวนประมาณ 1400 ราย และรายงานในปี 2022 พบว่า ถ้างีบบ่อยงีบนาน ส่อให้เห็นสภาพว่าเริ่มมีหรือมีสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ จากการติดตามพบ
- ปกติ 76%
- เริ่มมีอาการก้ำกึ่ง 20%
- และมีสมองเสื่อมแล้ว 4%
เมื่อติดตามพบว่าคนปกติงีบประมาณ 11 นาที คนที่สมองเริ่มก้ำกึ่งงีบ 24 นาทีและคนที่มีภาวะสมองเสื่อมจะงีบกลางวัน 69 นาที/วัน เมื่อติดตามคนที่เริ่มต้นปกติและเกิดสมองเสื่อมใน 6 ปี พบว่า
- ถ้างีบนานกว่า 1 ชั่วโมงจะเพิ่มความเสี่ยง 40%
- ถ้างีบบ่อยมากกว่า 1 ครั้งจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 40%
ทั้งนี้ คล้องจองกับรายงานในปี 2019 ที่ศึกษาในผู้ชายและพบว่า ถ้างีบกลางวัน 2 ชั่วโมงจะมีโอกาสเสี่ยงสมองเสื่อมมากกว่ากลุ่มที่งีบ 30 นาที/วัน
การงีบหลับกลางวันตามธรรมดาแล้วจะพบในกลุ่มที่นอนไม่ดีหรือนอนไม่มีคุณภาพ เช่น ในกลุ่มที่ทำงานไม่เป็นเวลา และข้อสำคัญคือมีโรคประจำตัวเมตาบอลิค รวมทั้งกลุ่มที่เป็นแล้วหรือกำลังจะเป็นโดยเฉพาะที่ครอบครัวมีสมองเสื่อมอยู่แล้ว และตนเองอาจกำลังเพาะบ่มสมองเสื่อมอยู่
การงีบหลับกลางวันบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องวิเคราะห์สุขภาพ หาสาเหตุที่ทำให้นอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ มีการใช้ยาไม่เหมาะสม ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด กลางคืนมีการหายใจติดขัดทำให้ออกซิเจนไม่ไปสมอง
- ระยะการนอนที่เหมาะสมอยู่ที่ 6-8 ชั่วโมงโดยมีช่วงหลับลึกอยู่ที่ 13 ถึง 23%
เน้นกินอาหารที่เข้าใกล้มังสวิรัติที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ พยายามหมั่นออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ งดเว้นบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้มีสุขภาพดี โดยการนอนที่มีคุณภาพ สามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมและโรคทางกายอื่น ๆ ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง