ทำความรู้จัก "โรค RSV" โรคร้ายใกล้ในช่วงหน้าฝน หลังพบเด็กเสียชีวิตแล้ว 1 ราย สาเหตุเกิดจากอะไร มีอาการอย่างไรบ้าง?
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังบุตรหลานของท่าน ในช่วงฤดูฝนนี้เป็นฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัส RSV กำลังระบาดติดต่อกันง่าย ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการทางระบบทางเดินหายใจของลูกหลานอย่างใกล้ชิด หลังพบเด็กเสียชีวิตแล้ว 1 ราย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มักระบาดมากในช่วงฤดูฝน-ฤดูหนาว (ประมาณเดือนกรกฎาคม–มกราคม) เด็กที่ร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการน้อยคล้ายไข้หวัดธรรมดา
- น้ำมูกไหล
- ไอ
- จาม
- มีไข้
- คออักเสบ
แต่ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือทารกคลอดก่อนกำหนดหรือในกลุ่มเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ภูมิต้านทานบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรง
- เป็นหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม
- ไข้สูง
- ไอมีเสมหะ
- หายใจหอบจนอกบุ๋ม
- หายใจแรง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด
- ซึม ตัวเขียว
- ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาต่อไป
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อไวรัส RSV เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อ RSV สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสผู้ป่วย หรือ สารคัดหลั่งจากปาก จมูก และทางลมหายใจผู้ป่วย
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV การรักษาจึงเป็นรักษาตามอาการ สำหรับผู้ป่วยเด็กในรายที่มีอาการรุนแรงจนกินได้น้อย มีหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม หายใจหอบแรง ลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด จำเป็นต้อง รับไว้รักษาในโรงพยาบาล
ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในลูกน้อยได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
- หมั่นล้างมือให้สะอาด
- แยกผู้ป่วย RSV เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
- สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ ล้างจมูก
- ด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง
- ดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณที่ควรได้รับ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง