สืบเนื่องจากการที่ศาลปกครองสูงสุด นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก วันนี้ ( 15 ก.ย.) ในคดีหมายเลขดำที่ อ.572 /2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม.
โดยคดีดังกล่าว BTSC ได้ฟ้องว่า คณะกรรมการตาม มาตรา 36 กับพวก ได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ BTSC ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
โดยในส่วนของ BTSC ได้ยื่นคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษร แทนการแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติมเท่านั้น จึงยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับคดี และจะต้องรอตุลาการแจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้
ส่วนเหตุผลและที่มาการนัดพิจารณาคดีครั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลปกครองชั้นต้น ได้พิพากษาว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งแรก เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ยกคำร้องในส่วนของการเรียกร้องค่าเสียหาย โดยทางศาลฯเห็นว่า BTSC ไม่น่าจะได้รับความเดือดร้อน เพราะการประมูลครั้งแรกถูกยกเลิกไปแล้ว ต่อมาทาง BTSC รวมถึง คณะกรรมการตามมาตรา 36 และ รฟม. ได้ยื่นคัดค้านคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน ในแต่ละประเด็นที่ต่างฝ่ายเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ของบริษัท BTSC ยืนยันว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ เพียงต้องการทราบว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูล หรือ ทีโออาร์ ครั้งที่ 1 โดยคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 รฟม. ชอบหรือไม่ชอบ ด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น เนื่องจากการประมูลดังกล่าว ได้ถูกคณะกรรมการตามมาตรา 36 รฟม. ยกเลิกไปแล้ว และยังเปิดประมูลใหม่ ครั้งที่ 2 ซึ่งกรณีนี้่เป็นประเด็นที่ศาลปกครอง จะต้องพิจารณาตามที่ BTSC ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ก่อนหน้า และแม้จะมีการยกเลิกการประมูล แต่ทาง BTSC ยังติดใจ ว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล ชอบหรือมิชอบด้วยกฏหมาย
และหากศาลปกครองสูงสุด ยืนตามศาลปกครองกลาง BTSC ก็พร้อมรับคำพิพากษานั้น โดยไม่สามารถที่จะดำเนินการอะไรได้ เพราะการประมูลได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ย้ำว่าสิ่งที่กระทำในวันนี้ เพราะ บริษัท BTSC ต้องการให้มีการพิพากษาประเด็นพิพาทดังกล่าวให้เกิดความถูกต้อง