ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Suphanat Aphinyan ระบุข้อความว่า ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้เสด็จฯ ไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ?
ถ้าลองสังเกตดูดีๆ จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ประมุขหรือผู้นำสูงสุดของประเทศส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเป็นประเทศจำนวนมากที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นในอดีต หรือยังอยู่ภายใต้เครือจักรภพในปัจจุบัน [1]
สำหรับการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ในยุโรปเกือบทั้งหมดได้เสด็จฯ ไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นเพราะล้วนแต่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันมาแต่เก่าก่อน เมื่อสืบสายไล่เรียงก็จะพบว่าทรงเป็นพระญาติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทั้งสิ้น [2]
ส่วนการเชิญแขกอื่นๆ จากประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีงามทั่วไป ก็จะเป็นการเชิญตามมารยาทโดยผ่านสถานเอกอัครราชทูต ไม่ได้มีหนังสือเชิญโดยตรงมายังประมุขประเทศต่างๆ แต่อย่างใด ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็จะส่งเอกอัครราชทูตไปเข้าร่วมโดยมารยาทตามปกติ สำหรับประเทศไทยเองก็จัดได้ว่าอยู่ในประเทศกลุ่มนี้
แถมในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังมีสถานการณ์ทางการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นต้น ส่งผลให้สหราชอาณาจักรไม่อนุญาตให้บางประเทศเดินทางเข้ามาถวายความเคารพพระบรมศพในการนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ ในการที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 [3]
อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญอย่างสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จฯ เยือนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อทรงลงพระนามาภิไธยถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 [4]
แม้แต่องค์พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกันอย่างสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ถือปฏิบัติในทำนองเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อีกทั้งส่งตัวแทนของรัฐเข้าร่วมแทนพระองค์ [5]