วันที่ 20 ก.ย.65 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง โพสต์เฟซบุ๊ก ผลพวงจากการประมูลหาเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออกซึ่งต้องประมูลถึง 2 ครั้ง อาจทำให้ รฟม. ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้าน เงินจำนวนมหาศาลนี้ซึ่งเป็นภาษีของพวกเราสามารถนำไปสร้างรถไฟฟ้าได้อีกสายอย่างสบายๆ น่าเสียดายมั้ยครับ ?
1. เงินก้อนใหญ่ 6.8 หมื่นล้าน คิดมาได้อย่างไร ?
1.1 การประมูลครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า เกณฑ์ประมูลเดิมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการแก้ไขเกณฑ์ประมูลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน
การประมูลครั้งที่ 1 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ (2) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
แม้การประมูลครั้งที่ 1 จะถูกล้มไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเร็วๆ นี้ BTSC ได้ขอเอกสารที่ยื่นประมูลคืนจาก รฟม. และได้เปิดซอง “ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน” ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC ได้เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท เป็นผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC 9,675.42 ล้านบาท หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BTSC เสนอให้ รฟม. แล้ว (79,820.40-70,144.98)