คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีฮั้วประมูลสร้างโรงพักทดแทน จำนวน 396 หลัง ซึ่งศาลมีพิพากษายกฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 6 คน โดยคำพิพากษาฉบับเต็มมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
-จำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินโครงการสถานีตำรวจเพื่อประชาชน โดยเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 3 ปี ปี 2552 ถึง 2554 ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (1) และมาตรา 10 และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ข้อ 13 นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสงค์ขอเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐ จากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 4 ข้อ 27 และข้อ 29 กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ทั้งนี้ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นว่าเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนเรียบร้อยแล้ว ควรดำเนินการรื้อถอนอาคารเดิมเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร และเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมและดูแลรักษาไปพิจารณาดำเนินการด้วย เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเท่านั้น ไม่รวมรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้างหรือวิธีการจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
-จำเลยที่ 2 พลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทน ผบ.ตร.
ศาลพิจารณาว่า ทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างได้รับการพิจารณาเหตุผลความจำเป็น โดยมีมูลเหตุข้อขัดข้องในทางกฎหมายแล้วเสนอขึ้นมาตามลำดับบังคับบัญชาจนถึงจำเลยที่ 2 โดยผู้บังคับบัญชาในแต่ละลำดับชั้นรวมทั้งพลตำรวจโทธีรยุทธ กิติวัฒน์ เจ้าหน้าที่พัสดุสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโทพงศพัศ พงษ์เจริญ ต่างพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยให้ดำเนินการตามที่สำนักงานส่งกำลังบำรุงเสนอ ซึ่งพลตำรวจโทพงศพัศ เคยเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินการจัดจ้าง ที่เคยพิจารณาข้อดีข้อเสียของแนวทางวิธีการจัดจ้างที่เสนอมาใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่อาจเป็นไปได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้อำนาจครอบงำสั่งการให้เสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างหรือมีพฤติการณ์ที่มิชอบแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบการจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 4 ข้อ 27 และข้อ 29 แล้ว ทั้งการกำหนดรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้างและวิธีการจัดจ้าง มิใช่เรื่องที่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แม้จำเลยที่ 2 ขออนุมัติต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่เสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอเรื่องแก่คณะรัฐมนตรีพิจารณาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เคยอนุมัติวิธีการจัดจ้างตามที่พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นเสนอมาก่อนแล้ว การเสนอดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงานการบังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะอนุมัติตามที่จำเลยที่ 2 เสนอหรือไม่ ก็ไม่มีผลต่อความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง