งานมหกรรมข้างต้นจัดขึ้นที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนช่วงวันที่ 16-19 ก.ย. โดยมีหนึ่งดาวเด่นเป็นการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม และห่วงโซ่มูลค่าของยานยนต์พลังงานใหม่ระหว่างจีนและอาเซียน
เนตา ออโต (Neta Auto) บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าของจีน ร่วมจัดแสดงรถยนต์หลากหลายรุ่น และจับมือกับปตท. (PTT) ของไทยลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านซึ่งระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาตลาดพลังงานใหม่ของไทยในด้านต่างๆ
เนตา ออโต เผยว่าข้อตกลงดังกล่าวเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้าในไทยและประเทศอื่นๆที่มีต่อแบรนด์รถยนต์เนตา และเป็นหมุดหมายการบุกเบิกตลาดต่างประเทศอย่างเต็มกำลังของเนตาออโต รวมถึงกลายเป็นแม่แบบของการเข้าถึงตลาดในประเทศอื่นๆ
เนตา ออโต ก้าวเข้าสู่ตลาดไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นเนตาวี (NetaV)แบบพวงมาลัยขวา ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวไทยไม่น้อย พร้อมกับมีการเปิดร้านโชว์รูมจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าหลายแห่งด้วย
“ปัจจุบันเนตา ออโต มียอดสัญญาซื้อขายรถยนต์ในไทยสูงเกิน 5,000 คันแล้ว” เฉินเป่า รองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการต่างประเทศของเนตา ออโต กล่าว พร้อมเสริมว่าชาวอาเซียนที่มาเที่ยวชมงานมหกรรมฯแวะเวียนมาสอบถามและลองนั่งรถยนต์เนตากันเป็นจำนวนมาก
เมธินี นันตาดีชาวไทยที่ใช้ชีวิตอยู่นครหนานหนิงมานานหลายปี หันมาขับรถยนต์ไฟฟ้าตามคำชักชวนจากเพื่อนสนิทเธอมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าดีกับสิ่งแวดล้อมและคุ้มค่า ขณะเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในจีนอยู่ตัวแล้วจึงหวังว่ารัฐบาลไทยจะเห็นจุดนี้และร่วมมือกับจีนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รถยนต์พลังงานใหม่กลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกยอดนิยมของชาวจีนในปัจจุบันโดยยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนครองอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 7ปีแล้ว มีแบรนด์และรุ่นให้เลือกซื้อมากมายนับไม่ถ้วน
ข้อมูลจากแวดวงรถยนต์พลังงานใหม่ระบุว่ารถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะของจีนจัดว่าอยู่แถวหน้าของโลก ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
บริษัท เซาท์ แมงกานีส กรุ๊ป จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฉงจั่วของกว่างซี มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมแมงกานีสสายยาวที่สุดในโลก โดยมีแร่แมงกานีสมาเลเซียเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิต ซึ่งจะถูกถลุงเป็นแมงกานีสไดออกไซด์แล้วส่งขายภายในประเทศและส่งออกไปยังญี่ปุ่น ก่อนที่สุดท้ายจะกลายเป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่พลังงานใหม่ ทำให้แร่ธาตุนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่
หลังจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ การจัดเก็บภาษีศุลกากรจากแร่แมงกานีสของมาเลเซียปรับลดลงจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2.4 ทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมของจีน อาเซียน และญี่ปุ่น มีความสามารถทางการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างผู้ประกอบการยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนและอาเซียนนั้นหลากหลาย ดังเช่นการก่อสร้างโครงการพื้นที่ดำเนินงานและสายการผลิตอย่างเต็มกำลังตั้งแต่ปีก่อน ที่ฐานอุตสาหกรรมจงเหว่ย บริเวณท่าเรือชินโจวของกว่างซี ซึ่งจะมุ่งผลิตผลิตภัณฑ์อย่างวัตถุดิบสารตั้งต้น วัตถุดิบโลหะ และวัตถุดิบกักเก็บพลังงาน โดยเริ่มมีการดำเนินงานของสายการผลิตสารตั้งต้นและสายการผลิตนิกเกิลซัลเฟต จำนวน 7 สายแล้ว
การเร่งยกระดับอุตสาหกรรมและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนนำสู่การร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างยานยนต์พลังงานใหม่โดยนอกจากนำเข้าและส่งออกวัตถุดิบ ยังมีความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นมาตรฐานทางอุตสาหกรรม และการอบรมบุคลากร
ปัจจุบัน “อาเซียน” นับเป็นหนึ่งในตลาดยานยนต์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของโลก
ฟางอวิ้นโจว ผู้ก่อตั้งและประธานเนตา ออโต เผยว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มผู้ประกอบการจีนได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนในอาเซียนพัฒนารถยนต์พลังงานใหม่อัจฉริยะและกลายเป็นหนึ่งกำลังหลักขับเคลื่อนการปฏิวัติทางพลังงานเพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
เครดิต: ซินหัว