วันที่ 21 ก.ย. 65 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แล้ว ซึ่งที่ประชุมจะได้นำไปประกอบในการพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจฯ ต่อไป
นายไตรรัตน์ กล่าวด้วยกว่า กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น สำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทุกๆ ด้านให้เพียงพอต่อการพิจารณาของที่ประชุม กสทช.
ทั้งนี้ สาระสำคัญของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า อำนาจการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะต้องยึดตามประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่สามารถรับทราบการควบรวมธุรกิจเดียวกัน และ มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561
และล่าสุด นายไตรรัตน์ เปิดเผยกับ TOPNEWS ว่า เนื่องจากเพิ่งได้รับหนังสือตอบกลับจากกฤษฎีกา บอร์ด กสทช. คงต้องใช้เวลาในการอ่านเอกสารก่อน และทางสำนักงานกสทช. ต้องมีการทำรายละเอียดด้วย
ส่วนวันพุธที่ 28 ก.ย.65 จะไม่มีการประชุมบอร์ดกสทช. เนื่องจากตนเอง พร้อมประธานบอร์ด กสทช. และกรรมการ กสทช. 1 ท่าน ติดภารกิจที่จะต้องเดินทางไปร่วมประชุมที่ต่างประเทศ ประมาณ 1 สัปดาห์
ดังนั้น คาดว่า การพิจารณาเรื่องการควบรวมธุรกิจของ TRUE กับ DTAC อาจจะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 5 ต.ค. แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่บอร์ดอาจมีการเรียกประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่ได้มีกำหนดเวลาแต่อย่างใด
สำหรับบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจดำเนินงานของ กสทช. ในการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ก. และบริษัท ข. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งมายัง สำนักงาน กสทช. นั้น
มีใจความระบุว่า ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ลับ ลงวันที่ 5 กันยายน 2565 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาและเห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ก. และบริษัท ข. ตามที่สำนักงานกสทช. ร้องขอรวม 6 ประเด็น
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงาน กสทช. โดยมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการแช่งขันทางการค้า และผู้แทนสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้มี กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม
โดยในการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น พระราชบัญญัติดักล่าวและพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ และอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม แต่ข้อที่หารือมานี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมายของ กสทช.
ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่อาจให้ความเห็นในส่วนที่เป็น การใช้ดุลพินิจรวมทั้งการกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขต่าง ๆ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระได้
อนึ่ง โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงาน กสทช. ว่า ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม กสทช. ได้ออกประกาศ 4 ฉบับ คือ
(1) ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ประกาศฉบับปี 2549)
(2) ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (ประกาศฉบับปี 2553)
(3) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2557 (ประกาศฉบับปี 2557) และ
(4) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561)