นับถอยหลังจากนี้อย่างที่ทราบว่าหรือเวลาไม่ถึง 5 วัน ช่วงบ่าย 3 ของวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่งของการเมืองไทย หลังสส.ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ตีความความเป็นรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม. 172 (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ และ ม. 158 วรรค 4 “ นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง” นับรวมจากวันที่หมอชลน่านยื่น 171 รายชื่อ ตั้งแต่ 17 ส.ค.2565 เบ็ดเสร็จรวม 45 วันพอดิบพอดีของคดีนี้ แต่หากนับเฉพาะวันที่ศาลรับคำร้อง สั่งพล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนถึงวันอ่านคำวินิจฉัยก็ยาวนานถึง 38 วันที่คดีนี้ดำเนินมา
ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อถึงวันศุกร์ประวัติศาสตร์ 30 ก.ย. 2565 นี้ ในใจของ “9 อรหันต์” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ที่ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (จากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด) 2.ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ (จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม (จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน (จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ (จากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด) 6.ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์) 7.ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์) 8.นายปัญญา อุดชาชน (จากผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ) 9.นายนภดล เทพพิทักษ์ (จากผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ) เพราะอ่านใจความคิดของ 9 อรหันต์ทั้ง 9 คนไม่ออกเหมือนกันว่าคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร จะให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อหรือให้นายกฯสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีก็ยังไม่มีใครรู้
ที่สำคัญในช่วงเช้าองค์คณะทั้งหมดจะมีการประชุม แต่ละคนจะต้องแถลงความคิดเห็นส่วนตนให้ที่ประชุมรับทราบอันนี้คือส่วนสำคัญ จากนั้นองค์คณะทั้งหมดก็จะปรึกษาหารือกัน ก่อนจะมีมติ ภายหลังจึงมอบให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบในการเขียนคำวินิจฉัยกลาง ก่อนจะนำคำวินิจฉัยกลางมาแถลงให้ผู้ร้องคือหมอชลน่านกับพรรคพวก ผู้ถูกร้องซึ่งก็คือพล.อ.ประยุทธ์ที่งานนี้จะส่งพล.ต.วิระ โรจนวาส หัวหน้าทีมจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปนั่งฟังคำวินิจฉัยแทนรับทราบ ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านทันทีและที่สำคัญคือ “ผูกพันทุกองค์กร” วันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าผลคำวินิจฉียจะออกอย่างไร และมติเท่าไหร่ ท่ามกลางข่าวลือ 7ต่อ 2 6 ต่อ 3 แม้กระทั่งเสียงแตก 4 3 2 ก็ว่ากันไปตามข่าวลือที่ปล่อยออกมา แต่ของจริงต้องรอวันศุกร์นี้แน่นอนว่าถ้าออกมาเป็นบวกกับพล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่ทำให้การเมืองสะเทือนเท่าไหร่ แต่ถ้าออกมาเป็นลบเป็นโทษกับบิ๊กตู่ เชื่อว่าการเมืองไทยถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
อย่างที่ทราบว่าแนวการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีแค่ 2 ทางเท่านั้น 1. คือสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ถ้าออกแบบนี้พล.อ.ประยุทธ์บ๊ายบายกลับบ้านเลย 2. คือยังไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี อันนี้ก็ต้องลุ้นว่าศาลให้เวลามาด้วยไหมว่าเหลือทำหน้าที่ได้อีกกี่ปี 2 ปีสิ้นสุด 2568 นับจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มใช้ 6 เม.ย.2560 หรือ 4 ปี สิ้นสุด 2570 นับจากการเป็นนายกฯสมัยสอง คือ 9 มิ.ย.2562 หรือไม่บอกปีที่สิ้นสุดอย่างนี้ก็ต้องไปลุ้นยื่นคำร้องกันใหม่ ก็ต้องดูว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างเคร่งครัดหรือไม่ หรือจะอธิบายมาครบเลยว่าเริ่มต้นนับความเป็นนายกฯจากเมื่อไหร่เหลือเวลาเป็นนายกฯได้อีกกี่ปี อันนั้นก็ต้องไปลุ้นกันว่าศาลจะเมตตาคลายความสงสัยของสังคมออกมามากน้อยขนาดไหน
แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ดวงตกถึงขีดสุดไม่ได้ไปต่อ ศาลวินิจฉัยว่าสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี อันนี้จะยุ่งกันไปใหญ่ แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมวิสามัญเป็นกรณีพิเศษ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา จากนั้นก็จะใช้รธน. ม.272 วรรคแรกพิจารณาเลือกนายกฯ “การให้ ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตาม มาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และ มติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” ปัจจุบันสองสภามีสมาชิกอยู่ 750 คน ส.ส.500 คน ส.ว.250 คน เกินกึ่งหนึ่งคือต้องมากกว่า 375 คน แม้ตอนนี้ส.ส.กับส.ว.จะมีไม่ถึงแต่ก็คงต้องใช้เสียงอย่างน้อยใกล้เคียงนี้ ส่วนคนที่มีลุ้น 2 คนตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองก็ประกอบด้วย 1. “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ 2. ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดคตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย รอบแรกต้องเลือกจาก 2 คนนี้เท่านั้น และต้องใช้เสียง 2 สภาของส.ส.กับส.ว. ราวๆ 365 คน เท่าที่มีอยู่ของสองสภาในตอนนี้ อนุทินกับชัยเกษมจะเอาคะแนนมาจากไหน หากพรรคพลังประชารัฐที่มี 97 คน กับส.ว.อีก 250 คน ไม่ลงคะแนนให้ ดูแล้วยังไงอนุทินกับชัยเกษมก็คงหมดสิทธิ์ลุ้นเป็น “นายกฯส้มหล่น” หากบิ๊กตู่ไม่ได้ไปต่อ
แนวโน้มหวยล็อคจึงน่ามาออกที่ “นายกฯคนนอก” ที่ชื่อ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯรักษาการ ที่จะใช้ออปชั่น ม.272 วรรค 2 “ หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ใน บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน จํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง แจ้งไว้ตาม มาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อท่ีพรรคการเมือง แจ้งไว้ตาม มาตรา 88 หรือไม่ก็ได”
ขยักแรกปลดล็อคนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองก่อน ใช้เสียง 375 คนของสองสภา อันนี้น่าจะไม่ยากสำหรับบิ๊กป้อม แต่ขยักสองที่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภาหรือราว 500 คน ในการเลือกนายกฯคนนอก อันนี้แหละเข็นครกขึ้นภูเขาเลยสำหรับบิ๊กป้อม เพราะถ้าพรรคการเมืองอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล จับมือกัน ยังไงลุงป้อมก็คงเป็นนายกฯคนนอกไม่ได้ เกมก็จะยื้อยุดกันแบบนี้ ไม่มีใครสามารถได้เสียงเอกฉันท์ในการเป็นนายกฯ ไม่ว่าอนุทิน ชัยเกษม หรือแม้แต่พล.อ.ประวิตร ข่าวล่ามาแรงล่าสุดว่าหากบิ๊กตู่หลุดนายกฯจริงๆ ถ้าเลือกนายกฯใหม่ไม่ได้เพราะต่างฝ่ายต่างหาเสียงส.ส.และส.ว.ไม่ถึงตามรัฐธรรมนูญกำหนดตามเงื่อนไขที่ว่านี้ ลุงป้อมก็จะนั่งเป็นรักษาราชการแทนแบบนี้ไปยาวๆ เพราะตอนนี้ก็มีศักดิ์และสิทธิ์มีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งโยกย้ายอนุมัติงบประมาณ ก็อยู่รักษาการยาวๆไป ได้แค่ไหนก็แค่นั้น อาจจะยาวไปถึงกฎหมายลูก 2 ฉบับพ้นการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะนานไปถึงประชุมเอเปค 18-19 พ.ย. จากนั้นค่อยยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ว่ากันไป ทั้งหลายทั้งมวลก็ต้องลุ้นว่า 30 ก.ย.2565 นี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร
////////////////////////