วันที่20 ก.ค. 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อมายื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย กรณีการออกมาให้ข่าวของ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เกี่ยวกับดีลการเจรจาจัดหาวัคซีนทางเลือก 20 ล้านโดส ซึ่งอาจเป็น “วัคซีน ทิพย์” เพื่อหวังผลสร้างกระแสความนิยมในหุ้นของบริษัทหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หลังจากที่ นพ.บุญ ออกมาให้ข่าวว่า ขณะนี้ กำลังดำเนินการลงนามจัดซื้อวัคซีน BioNTech ของเยอรมัน ชนิด mRNA เป็นตัวเดียวกับไฟเซอร์ และ Novavax ของอเมริกา ซึ่งสร้างความดีใจและความหวังให้กับคนไทยเป็นจำนวนมาก ที่จะได้วัคซีนทางเลือก mRNA มาป้องกันเชื้อโควิด-19 โดย นพ.บุญ ว่า จะลงนามจัดซื้อได้ภายในเย็น วันที่ 16 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีคำตอบให้กับสังคม ในทางกลับกัน สื่อมวลชนหลายแขนงได้รายงานข่าวว่า บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ได้เตรียมเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส ทำให้ราคาหุ้นของ บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ในวันที่ 15 ก.ค. 2564 จากราคา 29.75 บาท พุ่งขึ้นถึง 33.50 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 12.61% และสื่อต่างประเทศ ได้รายงานว่า การออกมาให้ข่าวดีลการซื้อวัคซีนดังกล่าว ช่วยให้ราคาหุ้นของเครือ บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ดีดตัวขึ้น และมีมูลค่าด้านการตลาด เพิ่มขึ้นราว 1,500 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็มีการเผยแพร่อีเมลอย่างเป็นทางการ จากบริษัท Pfizer Deutschland GmbH เรื่องสิทธิการจัดจำหน่ายวัคซีน โดยระบุว่า “เรายังคงร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการจัดหาวัคซีน Pfizer-BioNTech coVID-19 ให้ใช้ได้ทั่วประเทศไทย และเรากำลังอยู่ในช่วงปรึกษาหารือกับกรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ทางบริษัทมีการเจรจาเรื่องการส่งออกวัคซีนชนิด mRNA กับรัฐบาลไทยเท่านั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การดีลเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกของ นพ.บุญ ยังไม่มีใครทราบว่า จะออกมาทางใด แต่ที่แน่ ๆ การออกมาให้ข่าวว่า จะนำวัคซีนทางเลือก mRNA เข้าอย่างต่อเนื่อง แล้วไม่ได้ทำตามที่ประกาศมานั้น เป็นพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าเป็นการสร้างกระแสความนิยมในหุ้นของบริษัทในเครือของตนหรือไม่ ทั้งที่กฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดบอกกล่าวเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งมีโทษหนักทั้งทางอาญาและทางแพ่ง คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1 ล้านถึง 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ม.240 ม.242 ม.243 ประกอบ ม.298 วรรคสอง แห่ง พรบ. ตลาดหลักทรัพย์ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงขอให้ กลต. ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย หากพบว่า มีการละเมิดกฎหมายเพื่อหวังผลการเพิ่มมูลค่าหุ้นของคนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ขอให้ดำเนินไปตามขั้นตอนกฎหมายอย่างจริงจัง