สืบเนื่องจากปัญหาการประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ระบุชัดเจนว่า การยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ครั้งที่ 1 เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุด วันที่ 4 ต.ค. 65 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ กรณี 6.8 หมื่นล้านในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระบุใจความสำคัญว่า จากกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปัญหาการประมูลล่าช้ามากว่าสองปี ล่าสุดได้ปรากฏเงื่อนงำ ต่อสาธารณชนอีกว่า ราคาของผู้ชนะการประมูลเป็นราคาที่ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ไปมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเสนอของเอกชนรายอื่น
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีความเชื่อว่าทุกวันนี้คนไทยเบื่อหน่ายกับการเสียค่าโง่ และต้องทนเดือดร้อนจากโครงการด้านสาธารณูปโภคของรัฐ ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน เช่น โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ มูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท มีปัญหาไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้นจนขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้โดยสารเดือดร้อนจากบริการที่ด้อยคุณภาพ ขบวนรถเสียบ่อยขาดความต่อเนื่อง โครงการโฮปเวลล์ มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ที่สุดท้ายล้มเลิกไป แต่รัฐถูกฟ้องร้องเรียกค่าโง่ 2.8 หมื่นล้านบาทที่เป็นเงินภาษีประชาชน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่การบริหารโครงการตกอยู่ในมือเอกชนต่อเนื่อง แต่ไม่รู้ว่าใครไปแอบทำอะไรกัน กทม. กลับเป็นหนี้ต้องชดใช้เอกชนมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท