ติดตามต่อเนื่องกับกรณี บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตัดสินใจผนึก 2 องค์กรโทรศัพท์มือถือในรูปการควบรวม โดยกำหนดการแบ่งสัดส่วนถือครองหุ้นเท่า ๆ กัน ฝ่ายละ 30 % และเป้าหมายสำคัญในการมุ่งเน้นพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารของไทยระยะยาว
เพราะหลังจากผู้บริหารทั้ง 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือ นำเสนอความคิด และแผนธุรกิจต่อ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ปรากฎว่าผ่านมาแล้วกว่า 7 เดือน บอร์ดกสทช. ยังไม่มีการตัดสินใจ แม้กระทั่งล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา จะทำความเห็นชี้แจงเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ระบุใจความสำคัญ ยืนยันว่า การควบรวมกิจการ TRUE – DTAC ไม่จำเป็นต้องให้บอร์ดกสทช.พิจารณาอนุมัติ เนื่องจากกฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศกสทช.ปี 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจากกสทช.ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้ว
โดยมีประกาศ กสทช.ปี 2561 ขึ้นมาแทน และกำหนดเงื่อนไขเพียงว่า การรวมธุรกิจกระทำได้โดยจัดทำรายงานส่งให้กสทช. โดยมีทั้งกรณีที่ต้องรายงานก่อนล่วงหน้าและรายงานหลังจากรวมธุรกิจแล้ว สอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น รวมถึงกสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561
กล่าวโดยหลักการ คือ กสทช. ต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความได้สัดส่วน ระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคม ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.บัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดให้ กสทช. มีแค่หน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน มิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม เท่านั้น
และจากกรณีดังกล่าวทำให้ต้องติดตามว่า วันที่ 12 ต.ค. 2565 นี้ บอร์ดกสทช. จะตัดสินใจการควบรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ในรูปแบบไหน อย่างไร ท่ามกลางแรงกดดันของทั้งฝ่ายต้องการเห็นการควบรวมเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบการสื่อสาร และฝ่ายที่คัดค้านอ้างว่าจะเป็นการผูกขาดตลาด ทำให้ค่าบริการมีอัตราสูงขึ้น
ขณะที่ นายเพทาย วัฒนศิริ ทนายความ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TRUE เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 5 ราย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากความล่าช้าในการพิจารณาของ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งที่ประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการรวมธุรกิจ กำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนว่า ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นต่อเลขาธิการ กสทช.
สอดคล้องกับความเห็นของ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยระบุว่า การควบรวม TRUE และ DTAC เป็นแนวปฏิบัติที่กสทช.สามารถดำเนินการได้ตาม ประกาศ ปี 2561 เรื่องการควบรวมธุรกิจ และตั้งแต่กฎหมายดังกล่าว ประกาศบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2561 มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่น้อยกว่า 9 ราย แจ้งการรวมธุรกิจภายใต้ประกาศดังกล่าว
“และ กสทช. มีมติเพียง “รับทราบ” การแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น โดยมิได้ออกคำสั่ง “อนุญาต” และมิได้อาศัยอำนาจตามประกาศเรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดฯ ปี 2549 มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด “
ยกตัวอย่าง การรวมธุรกิจระหว่างบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT โดยกสทช. มีมติเพียง “รับทราบ” การแจ้งการรวมธุรกิจเท่านั้น เช่นนี้การรวมธุรกิจโดยวิธีการควบธุรกิจ ระหว่าง TRUE และ DTAC ในครั้งนี้ กสทช. ก็ต้องดำเนินการแบบเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนถ้ามีข้อกังวล ผลกระทบใดๆที่อาจเกิดขึ้น ถือเป็นอำนาจของกสทช. สามารถกำหนดเงื่อนไข มาใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะในทุกรูปแบบได้ ทั้งเงื่อนไขราคาค่าบริการ หรือแม้แต่การออกมาตราการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาดอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์