สืบเนื่องจากการที่ตัวแทน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้เข้ายื่นหนังสือผ่าน นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ กสทช.เข้มงวดการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชนที่อาจจะไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการควบรวม เนื่องจากในการควบรวมกิจการทรูและ ดีเเทค นั้น ทางบริษัทได้มายื่นเอกสารการควบรวมฯตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.65 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากกสทช.
โดยทาง กสทช.ได้รับเรื่อง และเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.65 ซึ่งในการดำเนินการนั้น บริษัท ได้มีการดำเนินการตามประกาศการควบรวมกิจการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2561 และใช้มาหลายบริษัท มีการควบรวมแล้วถึง 9 ครั้ง แต่ปัจจุบันบริษัท ยังไม่ได้รับคำตอบในเรื่องดังกล่าว ทั้งที่มีการยืนยันมาโดยตลอดว่า การควบรวมไม่ได้ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการผูกขาดตลาด
เนื่องจากทรู ไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งของตลาด ในทางตรงข้ามการรวมกันจะสร้างโอกาสการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการอินเตอร์เน็ต ทำให้การบริการมือถือลดลง ดังนั้นในการให้บริการ 5 จี ก็จะต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูง และการควบรวมครั้งนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่ดีที่สุด ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด
ล่าสุด วันนี้ ( 11 ต.ค.65) นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้เดินทางเข้าพบ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. เพื่อส่งหนังสือท้วงติงกสทช. เรื่องความล่าช้า ในการพิจารณาคำร้องควบรวมธุรกิจ TRUE – DTAC โดยมีพล.อ.กิตติ เกตุศรี ผู้ปฏิบัติงานประจำประธาน กสทช. เป็นตัวแทนรับเรื่อง เพื่อนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดกสทช.ต่อไป
โดย นายจักรกฤษณ์ เน้นย้ำว่าที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทได้ยื่นขอรวมธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 จนปัจจุบันเลยมานานเกือบ 9 เดือน แต่กสทช.ยังคงไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนออกมา จึงมาขอความเห็นใจ และความเป็นธรรม เพราะในวันพรุ่งนี้ (12 ต.ค) จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. จึงอยากให้เร่งนำเรื่องนี้มาพิจารณา เพราะหากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น จะเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค ทั้งลูกค้าทรูและดีแทค ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายร่วมกัน รวมทั้งขยายการใช้งาน 5G ได้ครอบคลุมมากขึ้น และลดความซ้ำซ้อนด้านการลงทุนโครงข่าย ทำให้เกิดผลดีต่อสังคมและประเทศชาติ