ข่าวดี! ม.มหิดลจุดประกายความหวังใหม่ พบสารต้าน "สมองเสื่อม" ในเปลือกมังคุด ไม่เกิดพิษต่อร่างกาย สามารถพัฒนาเป็นยาได้
ข่าวที่น่าสนใจ
ใครจะไปคาดคิด ว่าราชินีผลไม้อย่างมังคุด จะสามารถจุดประกายความหวังใหม่จากโรคที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเผชิญอย่าง “สมองเสื่อม” เมื่อม.มหิดล ค้นพบสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่สามารถต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทที่ช่วยเรื่องความจำในหลอดทดลอง แถมไม่เกิดพิษต่อร่างกาย จนสามารถพัฒนาเป็นยาได้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล อาจารย์แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า จากการค้นพบสารสกัดแซนโทน (xanthone derivatives) ในเปลือกมังคุด พบว่า
- มีฤทธิ์ป้องกันการตายของเซลล์สมองจากสารชักนำ
- สามารถต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทที่ช่วยเรื่องความจำในหลอดทดลอง
- ทำให้สัตว์ทดลองมีความจำและอารมณ์ที่ดีขึ้น
- ไม่เกิดพิษต่อร่างกาย สามารถพัฒนาเป็นยาได้
จากการวิจัยในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และวิจัยต่อยอดเพื่อการป้องกันและรักษาภาวะสมอง เสื่อมอัลไซเมอร์ โดยวิธีวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง (double-blinded randomized controlled trial) ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำนวน 108 ราย พบว่า สามารถต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยและมีสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีความจำดีขึ้น เมื่อเทียบกับยาหลอก
งานวิจัยดังกล่าว เป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และตีพิมพ์ผลงานวิจัยแล้วในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นความน่าอันดีต่ออนาคตของผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงวัยที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรโลกในยุคปัจจุบัน ที่ภาวะ “สมองเสื่อม” เป็นปัจจัยหลักจากการเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยที่พ้นผ่าน
จากเปลือกมังคุดที่เคยเป็นวัสดุไร้ค่า กลับกลายเป็นความหวังในวงการแพทย์ หลังพบสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคช่วยสมานแผลและต้านอนุมูลอิสระ สามารถนำเอาไปแปรรูปทำเป็นเครื่องสำอาง และยาได้มากมายหลายขนานตั้งแต่เจลป้ายปาก ไปจนถึงวิจัยในการรักษาโรคมะเร็งซึ่งยังมีข้อมูลจำกัดในสัตว์ทดลอง
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ยังเผยว่า หากจะผลักดันงานวิจัยสารสกัดจากเปลือกมังคุดต้าน “สมอง เสื่อม” สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในวงกว้าง จำเป็นจะต้องผ่านการวิจัยในมนุษย์ ในจำนวนตัวอย่างที่มากพอจนสามารถรับรองถึงประสิทธิภาพของผลการวิจัยได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกมากมายมหาศาล
มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนางานวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาวะแห่งมวลมนุษยชาติ โดยหวังให้การค้นพบสารสกัดจากเปลือกมังคุดต้านสมอง เสื่อมนี้ จะสามารถจุดประกายสู่การบูรณาการต่อยอดให้ประชากรโลกในกลุ่มสูงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกับสุขภาพสมองที่สมบูรณ์ พร้อมเก็บความทรงจำดี ๆ ที่มีต่อครอบครัว คนรอบข้าง และโลกใบนี้ได้ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
ข้อมูล : มหาวิทยาลัยมหิดล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง