วัดใจ “ประยุทธ์” ทวงคืนที่ดินเขากระโดง กล้าเท”ภูมิใจไทย” หรือไม่

อาณาจักรตรงนั้นกว้างขึ้นมาเรื่อย แล้วก็มีระวางเลขที่ดิน คุณชัยระวางเลขที่ดินที่ 9 คุณเนวินระวางที่ดินเลขที่ 59 คุณศักดิ์สยาม ระวางที่ดินเลขที่ 60 ซึ่งทั้งหมดเป็นที่ดินของการรถไฟ แม้กระทั่งสนามช้างอารีน่าก็เป็นที่ดินของการรถไฟ 100%"

ตำนาน 50 ปี คดี รฟท. ทวงคืนที่ดิน “เขากระโดง”

ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั่วประเทศมีการประเมินมูลค่าว่าไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท สวนทางกับผลประกอบการที่ขาดสภาพคล่องมาเป็นเวลานาน จนไม่สามารถพัฒนาหรือซื้อหัวรถจักรใหม่มาบริการประชาชนได้ด้วยซ้ำ

และมีที่ดินหลายแห่งของ รฟท.ที่สร้างรายได้ด้วยการให้เช่า ในขณะที่มีอีกหลายแห่งถูกเอกชนที่ได้รับสัมปทานให้เข้าไปทำธุรกิจนำไปเล่นแร่แปรธาตุ นานวันเข้ามีการไปขอกรมที่ดินให้ออกโฉนด หนักสุดคือนำโฉนดไปเข้าธนาคารแล้วเอาเงินที่ได้ออกมาใช้จ่าย

หนึ่งในที่ดินอันเป็นตำนานการต่อสู้ของ รฟท. มากกว่า 50 ปี คือ “เขากระโดง”

 

จุดเริ่มต้นจากสัมปทานหินภูเขาไฟ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) เล่าย้อนมหากาพย์เขากระโดง ซึ่งการรถไฟได้ที่ดินดังกล่าวมาจากการเวนคืนหรือซื้อมาจากชาวบ้าน ตั้งแต่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5

“เขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟได้มาจากการเวนคืนบ้าง ซื้อมาจากชาวบ้านบ้างในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าไปแล้วเขากระโดงเป็นแหล่งหินที่ดีที่สุดเพราะเป็นแหล่งหินภูเขาไฟ ความเกาะเกี่ยวของมวลหินค่อนข้างจะสมบูรณ์เมื่อวางแล้วเวลาวิ่งไปก็ไม่มีฝุ่น สำรวจแล้วเลยสร้างเส้นทางรถไฟสายโคราชถึง จ.อุบลราชธานี ช่วงเวลาหนึ่งก็มีการระเบิดหิน มีการต่อเส้นทางรถไฟจากบุรีรัมย์ไปเขากระโดงระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ปกติเมื่อรถไฟวิ่งผ่านท้องไร่ท้องนา 2 ฝั่งต้องห่าง 40 เมตรจากศูนย์กลางราง รวมเป็น 80 เมตร แต่เขากระโดงมีความต้องการที่จะเอาหินก็เลยกำหนดว่าเส้นทางจากบุรีรัมย์ไปเขากระโดงฝั่งละ 1 กิโลเมตร ซึ่งมันกว้างมาก คิดเป็นจำนวนที่ดินประมาณ 5,083 ไร่เศษ ตั้งอยู่ใน ต.อีสาน อ.เมือง”

“ช่วงหลังๆมีคนเข้าไปจับจองเป็นคนงาน แล้วหลังจากนั้นก็มีเอกชนคล้ายรับสัมปทานทำหินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อมารถไฟก็รับซื้อ ก็มีบริษัทที่เข้าไปตั้ง คือบริษัท ศิลาชัย ของคุณชัย ชิดชอบ ทำธุรกิจหินกับรถไฟประมูลทีไรก็จะได้บริษัทศิลาชัยทุกที เพราะเป็นหินในที่ดินของรถไฟพอขายแล้วก็จะได้ราคาต่ำกว่าเจ้าอื่นได้บริษัท ศิลาชัย มาโดยตลอด ศิลาชัยก็ไปตั้งรกรากอยู่ในนั้น ช่วงหลังก็มีความพยายามคล้ายๆว่าอยู่นาน แบบกฎหมายทั่วไป ครอบครองโดยปรปักษ์เกิน 10 ปี ก็หาวิธีที่จะครอบครองออกโฉนด ก็มีกระบวนการที่สลับซับซ้อนพอสมควร แต่ว่ามีเงื่อนงำไปออกโฉนดได้อย่างไรเพราะว่ามันเป็นที่ของรถไฟ ที่ดินที่ จ.บุรีรัมย์ มีการออกโฉนดไปให้ก็เป็นที่ถกเถียงว่าออกโฉนดได้อย่างไร เขาก็ต่อสู้เรื่อยมา แล้วก็มีการนำเอาที่ดินไปเข้าธนาคารเอาเงินออกมาใช้ ก็มีคำถามว่าที่ดินไม่ชอบส่งธนาคาร ธนาคารให้เอาเงินออกมาได้อย่างไร แต่ธนาคารก็ดูแค่หลักประกันที่เป็นโฉนดว่าออกโดยกรมที่ดิน ก็ต้องดูว่าการออกโฉนดถูกต้องหรือไม่ ประเด็นก็คือแล้วกรมที่ดินไปปออกโฉนดให้ได้อย่างไรเพราะเป็นที่รถไฟ ก็อยู่ในชั้นกระบวนการพิสูจน์เรื่อยมา ต่อสู้กันไป” นายสาวิทย์ กล่าว

จาก “ศิลาชัย” สู่อาณาจักรชิดชอบ

“ที่ตรงนั้นก็มีหลายหน่วยงานเข้าไปอยู่ เช่นแขวงการทางบุรีรัมย์ซึ่งไปเช่าอย่างถูกต้อง ถนนสาย226 ที่ตัดผ่านบุรีรัมย์-ประโคนชัย ก็มีหลักฐานชัดเจนว่าเช่าที่จากรถไฟซึ่งสิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นที่รถไฟ แม้กระทั่งกรมแผนที่ทหารก็ได้สำรวจแล้ว เพียงแต่ว่ารถไฟไม่มีโฉนด เป็นเส้นแสดงแนวเขตแล้วก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคนว่าเป็นของการรถไฟ แม้กระทั่งคุณชัย ชิดชอบ ก็มายอมรับกับรถไฟเมื่อปี 2512 ว่าอยู่ในที่รถไฟจริงแต่ว่าขออยู่ทำประโยชน์นี่มีหลักฐานชัดเจน แต่เมื่อมีโฉนดก็มีการเล่นแร่แปรธาตุขายกันบ้าง เช่น ขายให้คุณกรุณา ชิดชอบ ซึ่งคำบรรยายฟ้องของศาลก็จะมีหมดเกี่ยวกับรายละเอียดเหล่านี้ ทีนี้อาณาจักรตรงนั้นก็กว้างขึ้นมาเรื่อย แล้วก็มีระวางเลขที่ดิน คุณชัยระวางเลขที่ดินที่ 9 คุณเนวินระวางที่ดินเลขที่ 59 คุณศักดิ์สยาม ระวางที่ดินเลขที่ 60 ซึ่งทั้งหมดเป็นที่ดินของการรถไฟ แม้กระทั่งสนามช้างอารีน่าก็เป็นที่ดินของการรถไฟ 100%” นายสาวิทย์ กล่าว

 

หนังชีวิต 50 ปี สู่วันศาลฎีกาพิพากษา

ประธาน สร.รฟท. กล่าวว่า การต่อสู้ทวงที่ดินให้กลับมาเป็นของ รฟท. เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2505 แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่สามรถต่อสู้กับอำนาจทางการเมืองได้ “การรถไฟก็พิสูจน์สิทธิเรื่อยมา แต่ก็เป็นที่รับรู้รับทราบว่าบารมีหรืออิทธิพลทางการเมืองมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ได้ข้อยุติแล้วก็ต่อสู้กันเรื่อยมา เรื่องนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2505 จนศาลมาตัดสินเมื่อปี 2560 ทางสหภาพฯ ช่วงที่คุณเกรียงศักดิ์ แข็งขัน เป็นประธาน จะเดินเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ก่อนที่ศาลจะตัดสินมีการสู้กันไปมาแล้วไม่จบ พอมีกฎหมายตั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ปี 2542 ก็เลยเห็นว่าแทนที่จะสู้ทางการเมืองแบบนี้ น่าจะให้หน่วยงานกลางองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ ก็เลยไปร้อง ปปช. เมื่อปี 2550 ปปช.ก็เห็นว่ามีมูลก็เลยส่งฟ้องศาล เลยเป็นที่มาที่ศาลพิสูจน์สิทธิแล้วก็ประกอบกับก่อนหน้านั้นทางผู้เสียหาย ผู้บุกรุกทั้งหมด 35 ราย ใกล้กับสนามช้างอารีน่า เขาก็บอกว่าอยู่มานานแล้วรถไฟก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ก็เลยขอให้ศาลสั่งกรมที่ดินออกโฉนดให้กับ 35 รายนั้น ปปช.ก็ส่งคดีนี้เป็นการรวบคดีเข้าไปด้วยกันทั้งหมด ฟ้องร้องกันที่ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ที่บุรีรัมย์ จนมาถึงศาลฎีกา แล้วก็ตัดสินว่าที่ดินทั้ง 5,083 ไร่เป็นของการรถไฟ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่และบริวารทั้งหลายต้องรื้อสิ่งของทั้งหมดแล้วออกไปจากพื้นที่ หลังจากนั้นก็มีอีก 2 คนไปฟ้องศาลให้ออกโฉนดในปี 2561เป็นพื้นที่ตรงมุมที่ไม่น่าจะเป็นที่ของรถไฟ ท้ายที่สุดศาลก็พิพากษาให้คล้ายกับคดีแรก คือทั้งหมดนั้นเป็นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย”

“เมื่อเป็นลักษณะแบบนี้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61,62 ระบุว่า ถ้ากระบวนการไม่ชอบ อธิบดีกรมที่ดินหรือรองอธิบดีสามารถที่จะสั่งการให้ที่ดินจังหวัดหรือส่วนที่เกี่ยวข้องในโครงสร้างทั้งหมดสามารถเพิกถอนโฉนดได้ แต่ว่ากรมที่ดินก็ไม่เพิกถอน มาตรา 62 ยังระบุอีกว่าถ้ากรมที่ดินไม่เพิกถอน และคำพิพากษาของศาลเป็นที่สุดแล้วให้ศาลสั่งให้กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล”

 

ศาลตัดสินที่ดินเป็นของ รฟท. แต่ไม่มีเสียงตอบรับ

ปรากฏว่าประมาณ 15 มี.ค. ที่ผ่านมาผมก็ให้ทางสมาพันธ์แรงงานรถไฟไปยื่นถึงอธิบดีกรมที่ดิน ถึงพล.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้รองอธิบดีการที่ดินมาพบ ก็รับเรื่องไป เดือน พ.ค. ก็ตอบทางสมาพันธ์มาว่าได้ส่งเรื่องไปยังที่ดิน จ.บุรีรัมย์แล้ว ส่วนกระบวนการจะได้ข้อยุติอย่างไรจะได้แจ้งให้ทราบอีกครั้ง ทางสมาพันธ์ก็เลยคิดว่าเนื่องจากยังไม่ได้เป็นนิติบุคคล ทางสหภาพก็เลยไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.เพื่อขอพบ หารือ 2 เรื่อง คือ 1.ที่ดินเขากระโดง 2. จุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศที่อยู่ภายในองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆของกระทรวงมหาดไทย ทางรัฐมนตรีสั่งให้หน้าห้องแจ้งมายังสหภาพว่าท่านเองยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้มากนักขอเลื่อนไปก่อน พร้อมเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบและให้เข้าพบ นี่คือสถานการณ์ล่าสุดกระบวนการต่อจากนี้คือกรมที่ดินก็ต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่เคยออกให้ก่อนหน้านี้ จะออกโดยชอบหรือไม่ชอบไม่รู้แต่ต้องเพิกแล้ว หน้าที่คือกรมที่ดิน ไม่ใช่การรถไฟ ที่ผ่านมากว่า 50 ปี รถไฟสู้อย่างเต็มที่แล้ว หลายชั้นหลายขั้นตอน

 

 

เมื่อ “ศักดิ์สยาม” เขย่าแลนด์ลอร์ดกลางกรุง

เมื่อปี 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 234,976 ไร่ทั่วประเทศ เพื่อหารายได้ล้างหนี้สะสม 1.67 แสนล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้จากการพัฒนาที่ดินแค่ 3,000 ล้านบาทต่อปี

เป็นการเขย่าวงการอสังหาริมทรัพย์ รื้อสัญญาเช่าที่ดิน 3 ตระกูลที่ครอบครองทำเลทองใน กทม. ในขณะที่ดิน “เขากระโดง” กลับเงียบหายไปจากตำแหน่งรัฐมนตรียังมีอำนาจ

นายสาวิทย์ ยืนยันว่า การดำเนินการทวงสิทธิในที่ดินเขากระโดงของการรถไฟไม่ได้มีความต้องการจะขับไล่ชาวบ้านหรือใครออกจากพื้นที่ แต่เป็นเพียงความต้องการที่หารายได้ให้กับ รฟท. หลังขาดสภาพคล่องมาอย่างยาวนาน

 

“ประเด็นก็คือว่าถ้ากรมที่ดินเพิกถอนแล้ว รถไฟก็ต้องไปหาว่าจะดำเนินการกับผู้บุกรุกอย่างไร จะคิดค่าเช่าตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันอย่างไร ส่วนจะให้อยู่ต่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องกระบวนการอีกกระบวนการหนึ่งต่อจากนี้ไป ผมเองถ้าพูดตรงไปตรงมาอย่างไม่เห็นแก่ใคร ตอนนี้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคือคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ แล้วก็ดูแลรฟท. แล้วที่ดินตัวเองไปอยู่ในที่ดินของ รฟท. เรื่องกฎหมายไม่ต้องพูดถึงเพราะศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินแล้ว โดยศีลธรรมจริยธรรมถูกต้องหรือเปล่า ที่สำคัญคือผมไม่ได้ประสงค์จะไปไล่ใครออกจากพื้นที่แม้กระทั่งชาวบ้าน รฟท.ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตรงนั้นอยู่แล้วความหมายคือไม่ได้วางราง แต่ว่าในหลายพื้นที่คนที่เข้าไปใช้ต้องจ่ายค่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เข้าไปอยู่ ผมไม่ได้อยากไล่ใครออกทั้งคุณเนวิน คุณศักดิ์สยาม หรือศิลาชัย ไม่มีประเด็นที่เราจะต้องไปขับไล่เขา ต้องขอบคุณด้วยซ้ำไปที่ทำให้ จ.บุรีรัมย์ เจริญ”

“ปัญหาคือวันนี้ รฟท.ขาดทุน เราพยายามหารายได้เพื่อที่ รฟท.จะได้เกิดสภาพคล่อง ไม่ใช่แค่ที่เขากระโดงอย่างเดียว เป็นข้อเสนอด้วยซ้ำไปว่าการรถไฟเราถนัดการขนส่ง เราไม่ถนัดเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สหภาพเสนอด้วยซ้ำไปว่าให้ตั้งเป็นบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อไปพัฒนาจัดการที่ดินทั้งหลายเหล่านี้ จัดแบ่งให้ชัดสำหรับผู้มีรายได้น้อยอาศัย ที่ดินสำหรับธุรกิจขนาดกลางหรือธุรกิจขนาดใหญ่ จัดวางราคาอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่อยู่อาศัย เสนอมา 20 ปีแล้วเรื่องบริษัทบริหารที่ดินและทรัพย์สิน เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 เร็วๆนี้เอง เราต้องการให้เอารายได้ตรงนี้มาเพื่อบริการประชาชน ถ้าเราบริหารจัดการดีๆรถไฟวิ่งฟรีได้เลยทั่วประเทศ” นายสาวิทย์ กล่าว

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"บิ๊กจ้าว" ลงดาบ "ผกก.สน.หนองค้างพลู" สั่งปลดออกจากราชการ ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง ม.157
สีกากียอมรับ "บิ๊กต่าย" ไม่หวั่นโดนบางฝ่ายบีบวางมาตรฐานแต่งตั้ง "ตร." "เอก อังสนานนท์" คือผู้ยืนยัน
"หลวงพี่น้ำฝน" แจงสั่งตามลูกศิษย์ ส่งตัวให้ตร. ยืดอกรับผิด ย้ำไม่สนับสนุนความรุนแรง เตือน "พระปีนเสา" ปากจะพาเดือดร้อน
"ศปช." ย้ำ "ภาคใต้" ฝนกระหน่ำต่อเนื่อง “ภูมิธรรม” กำชับเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
"ภรรยา-ลูกสาว" ของหมอบุญ เข้ามอบตัวกับตร. ตามหมายจับร่วมกันฉ้อโกง กว่า 7.5 พันล้านบาท
“บิ๊กก้อง” สั่ง ปอศ.ส่งสำนวน ‘หมอบุญ’ ฉ้อโกงปชช.-หลอกลวงลงทุน ให้ดีเอสไอ เป็นคดีพิเศษ
"พิชัย" นำทีมพณ.เจรจา รมต.การค้า 7 เขตเศรษฐกิจเอเปค เพิ่มเชื่อมั่นไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าอุตฯสมัยใหม่
หนุ่มเจ้าของบริษัท ผวา พบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิดซุกซ่อนอยู่ใต้ท้องรถยนต์เก๋ง
แนะยุบ กกต.ทิ้ง เทพไท แฉ เลือกตั้ง อบจ.เมืองคอนซื้อเสียงเปิด เผย โวย กกต.นั่งดูตาปริบๆ แนะยุบทิ้งดีกว่ามั้ย
"เชน ธนา" พาสื่อทัวร์โกดัง ยันสินค้าอยู่ครบ ไม่ได้แอบขายเอาเงินไปใช้ตามข่าว ย้ำชัดไม่ได้โกงคู่กรณี

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น