วันที่ 21 ต.ค. 65 องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย ) หรือ ACT จัดเสวนาเปิด เวทีสาธารณะค้นหาความจริง “กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูล รถไฟสายสีส้ม” ผลประโยชน์..หรือค่าโง่!! ที่รัฐฯ ต้องมีคำตอบ โดยมีดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT , ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง , พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS , ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเสวนาในครั้งนี้
ขณะที่ทางด้านของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ไม่ได้เดินทางมาร่วมเสวนา โดยรฟม. ได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เนื่องจากขณะนี้ ยังมีคดีความของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยคดียังไม่ถึงที่สุด การเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้อาจะส่งผลกระทบต่อคดีความได้
เช่นเดียวกับ BEM ที่ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการ จึงยังไม่อาจเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประมูลต่อสาธารณะได้
โดยในการเสวนา ดร. มานะ ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ในส่วนของผู้สังเกตการคุณธรรม ค่อนข้างมีอุปสรรคในการทำงาน โดยผู้สังเกตการณ์คุณธรรม ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการนำเอา TOR เก่า มาปรับปรุง ทำให้ผู้สังเกตการณ์ เเสดงความคิดเห็นได้น้อย อีกทั้งในการประชุมหลายๆครั้ง ทางด้านของรฟม. ไม่ได้มีการเชิญผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม จึงทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น หากจะมีการกล่าวอ้างว่า โครงการนี้มีความโปร่งใส เพราะมีข้อตกลงคุณธรรมที่ทำร่วมกันแล้ว จะต้องมีการพิสูจน์อีกครั้ง
ส่วนโครงการนี้จะมีความโปร่งใส หรือ ไม่โปร่งใสนั่น ขณะนี้ ยังไม่สามารถฟันธงได้ เเต่จนถึงวันนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบจากผู้มีอำนาจ โดยให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการนี้ เช่นเดียวกันโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าโครงการฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่ และมีการใช้อำนาจหน้าที่เหมาะสมกับการที่รับเงินเดือนที่เป็นภาษีของประชาชนหรือไม่ รวมถึงในการตรวจสอบจะต้องมีการบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานเพื่อในอนาคตบุคคลที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และไม่ให้ผลประโยชน์ของประชาชนสูญหายไป
ดร. มานะ ระบุอีกว่า หลังจากที่ผู้สังเกตการณ์ได้พบข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการนี้ ผู้สังเกตการณ์ ได้มีการทำรายงานสรุปความคิดเห็นเสนอไปยังคณะกรรมการมาตรา 36 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อมูลของรายงานจะมีการนำมาเปิดเผยต่อประชาชนหรือไม่ จะต้องติดตามต่อไป
ส่วนกรณีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญจากการประมูลก่อนการลงนามสัญญาร่วมกันนั้น ดร. มานะ ระบุว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ทำด้วยเงินภาษีประชาชน ACT จึงขอตั้งคำถามแทนประชาชนว่า ข้อมูลทุกอย่างควรจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบหรือไม่ แม้ระบุว่า ขณะนี้ยังมีเรื่องของคดีความ เรื่องของการเจรจาระหว่างผู้ชนะการประมูล ซึ่งยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อใดจึงจะเปิดเผย อีกทั้งในส่วนของภาคเอกชน ที่เคยเข้าร่วมกสานประมูลได้มีการเปิดเผยตัวเลขการขอสนับสนุนเม็ดเงินจากรัฐบาลออกมา ในส่วนของภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีวิธีการใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้บ้าง
ส่วนขอเสนอของ TDRI ที่ได้เสนอถึงแนวทางการดำเนินการหากการประมูลครั้งที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยให้เปิดประมูลครั้ง 3 และให้การประมูลแบ่ง 2 ส่วน คือ การเปิดประมูลเรื่องของโครงสร้าง กับการเปิดประมูลเรื่องการเดินรถ ดร. มานะ ระบุว่า ข้อเสนอทางวิชาการนั้น สามารถที่จะเป็นไปได้ หากการประมูลรอบที่ 2 มีปัญหาจริงๆ เกิดขึ้น