เปิดภาพชุดใหม่บน "ดาวอังคาร" จากรถสำรวจดาวเคราะห์แดงที่ส่งไปตั้งแต่ปี 2012 ฉลองวาระลงจอดครบรอบ 10 ปี
ข่าวที่น่าสนใจ
NASA เปิดภาพชุดใหม่ให้ชาวโลกตื่นเต้นอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นภาพของ “ดาวอังคาร” ฝีมือโรเวอร์คิวริโอซิตี้ (Curiosity) รถสำรวจดาวที่นาซาส่งไปตั้งแต่ปี 2012 หลังฉลองวันเกิดน้อง เนื่องในวาระที่ได้ลงจอดบนดาวเคราะห์แดงครบรอบ 10 ปี เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยเจ้ารถสำรวจนี้ ได้เดินทางมาถึงบริเวณพื้นที่ที่อุดมไปด้วยกลุ่มตะกอนของแร่ซัลเฟต และโซเดียมคลอไรด์ในปริมาณที่หนาแน่น อย่างมหาศาล ซึ่งแร่ประเภทนี้จะตกผลึกได้ ก็ต่อเมื่อน้ำเค็มระเหยตัวขึ้นไปในอากาศเท่านั้น พื้นที่ในบริเวณดังกล่าว อยู่ทางตอนเหนือของเชิงภูเขาชาร์ป ซึ่งเป็นภูเขาขนาดยักษ์สูงกว่า 5,500 เมตร* ที่ตั้งอยู่ใจกลางแอ่งหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) อีกทีหนึ่ง
นักธรณีวิทยาจึงคาดการณ์ว่า แอ่งหลุมอุกกาบาตเกลนั้น เคยเป็นทะเลสาบน้ำเค็มเข้มข้นสูงมาก่อนคล้ายกับทะเลเดดซีบนโลกในยุคสมัยที่ชั้นบรรยากาศของ “ดาว อังคาร” ยังหนาแน่นพอที่จะทำให้น้ำคงสถานะเป็นของเหลวได้
แต่เมื่อลมสุริยะของดวงอาทิตย์ ได้เริ่มพัดพาชั้นบรรยากาศที่ไร้การปกป้องจากสนามแม่เหล็กออกไป ความหนาแน่นของอากาศก็เริ่มน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ทำให้น้ำบนดาว อังคารเริ่มเดือดที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ไม่เหมือนกับบนโลกในบริเวณระดับน้ำทะเลที่น้ำจะเดือดที่ 100 องศาเซลเซียสอยู่เสมอ
หลักการที่ว่าจุดเดือดของน้ำแปรผันตามความดันบรรยากาศนี้ จึงทำให้ผืนน้ำบนดาวอัง คารส่วนใหญ่เริ่มเดือดกลายเป็นไอ แล้วถูกพัดพาออกไปสู่ห้วงอวกาศด้วยฝีมือของลมสุริยะ เมื่อราว 3,000 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งได้หลงเหลือไว้แต่กลุ่มตะกอนของซัลเฟตในภาพชุดนี้ ในยุคสมัยที่ดาว อังคารได้แปรเปลี่ยนเป็นดาวทะเลทรายหนาวเย็นยะเยือกโดยสมบูรณ์
โดยผลการศึกษาชั้นหินตะกอนที่เรียงตัวเป็นชั้น ๆ ตามช่วงเวลาที่พื้นผิวน่ำด้านบนค่อย ๆ ระเหยถอยร่นไปยังเบื้องล่างของเชิงภูเขาชาร์ปนั้น จะช่วยให้นักธรณีวิทยาระบุถึงความเร็วในการลดระดับของน้ำได้อย่างแม่นยำ และยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อได้อีกขั้น เพื่อที่จะศึกษาว่ากระบวนการสูญเสียน้ำในแต่ละช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไรกันแน่
แต่อย่างไรก็ดี การเดินทางไล่ไต่ระดับขึ้นเขาไปขุดเจาะเก็บตัวอย่างหินของโรเวอร์คิวริโอซิตี้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเชิงภูเขาชาร์ปมีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายไปอยู่ทั่วบริเวณ ซึ่งมากเสียจนโรเวอร์ไม่สามารถหาพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อการขุดเจาะได้ทันทีที่ไปถึง แถมยังต้องคอยดูว่าไม่มีอะไรมาบดบังเสาสัญญาณ ที่ใช้สื่อสารไปยังยานอวกาศบนวงโคจรของดาว อังคาร ก่อนที่ส่งต่อมายังสถานีบนโลกอีกทอดหนึ่งด้วย
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา โรเวอร์คิวริโอซิตี้ก็สามารถเก็บตัวอย่างหินบริเวณนี้มาวิเคราะห์ได้สำเร็จ ซึ่งไม่แน่ว่าผลลัพธ์ของงานวิจัยที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจช่วยให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การสูญเสียน้ำของดาว อังคารโดยละเอียดมากขึ้นในอนาคต
ข้อมูล : Spaceth.co
ข่าวที่เกี่ยวข้อง