คิว-ทรักส์ (Q-Trucks) ยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ จำนวน 20 คัน ถูกขนส่งมาจากนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เมื่อวันพุธ (19 ต.ค.) และจะถูกทดสอบก่อนนำออกใช้งานจริงบนลานตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเทียบเรือ ดี (Terminal D) ของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งควบคุมงานโดยฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย
สุทธิรัตน์ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ในโครงการรถบรรทุกหนักขับเคลื่อนอัตโนมัติตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 โดยโครงการนี้มุ่งปรับใช้ระบบอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ มาช่วยให้การดำเนินงานของท่าเรือมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศและความปลอดภัย
“คิว-ทรักส์ เป็นรถบรรทุกอัจฉริยะที่ไม่ต้องมีคนขับ ทำงานด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซนเซอร์ และระบบจีพีเอส (GPS) รวมถึงทำงานประสานกับกองรถบรรทุกดั้งเดิมที่มีอยู่ตั้งแต่สองปีก่อน เพื่อช่วยขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างท่าเรือและลานตู้คอนเทนเนอร์”
“คนขับรถบรรทุกส่วนมากเข้าใจดีว่าระบบอัตโนมัติจะ ‘มองเห็น’ ทุกอย่างโดยรอบอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา และหยุดจอดฉุกเฉินหากเจอกับสิ่งกีดขวางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” สุทธิรัตน์ ซึ่งเป็นสมาชิกทีมงานที่ดำเนินการอบรมความปลอดภัยแก่คนขับรถบรรทุกที่จะเข้าออกท่าเรือมากกว่า 30,000 คัน กล่าว
คิว-ทรักส์ พัฒนาโดยบริษัท สารสนเทศและเทคโนโลยี เซี่ยงไฮ้ เวสต์เวลล์ จำกัด (Shanghai Westwell Information and Technology) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม
คิว-ทรักส์ มาพร้อมเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักรปัญญาประดิษฐ์และระบบชาร์จไร้สาย สามารถทำงานโดยไม่หยุดนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือวิ่งไกลถึง 140 กิโลเมตร โดยการทำงานรายวันในช่วง 25 เดือนที่ผ่านมา คิว-ทรักส์ ช่วยขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 150,000 ตู้แล้ว
“รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติคิว-ทรักส์ บวกกับนวัตกรรมที่ใช้งานอยู่แล้วและเตรียมใช้งานเพิ่มเติม ช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายของการเป็น ‘ท่าเรืออัจฉริยะ’ ที่มีการพัฒนาเต็มรูปแบบแห่งแรกของไทย” สตีเฟน แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
“เราจะพิจารณาการพัฒนาเทคโนโลยีรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ท่าเทียบเรือ ดี เพิ่มเติม และสำรวจประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ที่มีต่อโครงข่ายของฮัทชิสัน พอร์ท ตามท่าเรือทั่วโลกและแผนการในอนาคต” แอชเวิร์ธกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการท่าเรือแหลมฉบังระบุว่าไทยกำลังเปลี่ยนแปลงท่าเรือแหลมฉบังสู่การเป็นศูนย์กลางท่าเรือระดับภูมิภาค พร้อมยกระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพการดำเนินงานของท่าเทียบเรือ รวมถึงตัดลดต้นทุนและมอบแนวทางอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
แผนการดังกล่าวจากการท่าเรือฯ สอดคล้องกับปณิธานของเวสต์เวลล์ ที่มุ่งมั่นส่งเสริมระบบอัตโนมัติ โดยถานหลีหมิ่น ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเวสต์เวลล์ เผยว่าไทยถือเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรกของเวสต์เวลล์ในมุมการขับเคลื่อนอัตโนมัติเชิงพาณิชย์
“การทำงานที่ท่าเรือแหลมฉบังช่วยให้เราเข้าใจความท้าทายในการดำเนินงานบนลานตู้คอนเทนเนอร์ โดยเราสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของการประยุกต์ใช้การขับเคลื่อนอัตโนมัติในจีน และปรับแต่งแนวทางการดำเนินงานให้เข้ากับสภาพท้องถิ่น” ถานกล่าวทิ้งท้าย
เครดิต: ซินหัว