กลายเป็นประเด็นร้อน ต้องจับตากับวาระประชุม สภากรุงเทพมหานคร(สภา กทม.) วันพุธ ที่ 26 ต.ค. 2565 เพราะมีวาระพิจารณากรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรก โดย นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร ระบุว่า เป็นวาระเสนอโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1. ญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ
2. ญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
หลังจากก่อนหน้า นายชัชชาติ ยอมรับว่า แผนงานการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อาจไม่สามารถแก้ปัญหาภาระหนี้ทั้งหมดได้ เนื่องจากการเก็บค่าโดยสารไม่ครอบคลุมคุ้มค่าจ้างบริการเดินรถ เพราะภาระหนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้บริการเดินรถ มีมูลค่าปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท
และหาก กทม. ตัดสินใจเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ในอัตรา 15 บาท ก็ยังมีส่วนต่างที่ต้องนำเงินจากสภา กทม. มาจ่าย จึงต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา กทม.เพื่อรับทราบ รวมถึงขอความเห็นประกอบการพิจารณา ทางออกเรื่องดังกล่าว
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แ ละนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง แสดงความเห็นถึง การที่นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. ยอมรับ การพิจารณาเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ไม่เพียงพอชำระหนี้ BTSC ว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะเป็นไปตามที่ตนเองเคยให้ข้อมูลไว้แล้ว แม้จะมีการจัดเก็บค่าโดยสาร แต่ไม่เพียงพอกับการจ่ายหนี้ให้กับ BTSC แน่นอน ส่วนการจะเก็บค่าโดยสารหรือไม่ อย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ว่า กทม.ว่าจะจัดเก็บมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นอำนาจของผู้ว่า กทม. ไม่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ผู้รับสัมปทาน เพราะผู้รับสัมปทานเพียงแต่รับจ้างเดินรถเท่านั้น ของช่วงส่วนต่อขยายที่ 2
ขณะที่ส่วนไข่เเดง หรือ ส่วนที่ภาคเอกชนรับสัมปทานตั้งแต่เดิม ระยะทางกว่า 23 กิโลเมตร ในเส้นทาง อ่อนนุช -หมอชิต และจากสนามกีฬาแห่งชาติ ไปสะพานตากสิน ในช่วงอายุสัมปทาน ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 16-44 บาท ซึ่งอนาคตหากผู้ว่าฯ กทม. จะปรับลดราคาค่าโดยสารก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาถึงสถานะทางการเงินของกรุงเทพมหานครประกอบด้วย
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นของนายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าค่อนข้างล่าช้า และเคยการประกาศว่าจะไม่ขยายอายุสัมปทานให้แก่ BTSC โดยปล่อยให้ BTSC บริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปจนถึงปี 2572 เท่านั้น สุดท้าย กทม.จะนำเงินจากส่วนไหน มาใช้หนี้ให้กับ BTSC จำนวนกว่าแสนล้านบาท จากภาระค่าจ้างบริการเดินรถส่วนต่อขยาย และ มูลหนี้ลงทุนระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ในส่วนของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย