ถือเป็นประเด็นร้อน หลังจากสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) มีกำหนดพิจารณากรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใน 2 ญัตติสำคัญ เป็นครั้งแรก หลังจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาทำหน้าที่เป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 หรือกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1. แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ
2. การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ขณะที่ ล่าสุด วันนี้(25 ต.ค.65) นายชัชชาติ ชี้แจงถึงกรอบการหารือกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในที่ประชุมสภากทม. ว่า กรณีค่าโดยสารของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
ทางกรุงเทพมหานครเสนอให้จัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ซึ่งหากสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบ จะมีการสั่งการต่อไปยังบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT ให้มีการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งทาง KT จะแจ้งแก่เอกชนผู้ดำเนินการต่อไป คือใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนนับจากสภากทม. เห็นชอบ
ขณะที่ปัจจุบัน เปิดให้มีการนั่งฟรี และการจัดเก็บค่าโดยสาร ก็ไม่สามารถจะเพิ่มอัตราค่าโดยสารไปมากกว่านี้ได้แล้ว เว้นแต่จะหาทางทำให้ลดลงจ ากการคำนวณรายได้ ดังนั้นราคาค่าโดยสารนี้คงเป็นไปในลักษณะทดลองไปก่อน แล้วจะดูอีกครั้งถึงแนวทางการปรับเปลี่ยน แต่อย่างน้อยก็เป็นไปเพื่อให้สภาฯ รับทราบ เหมือนอย่างที่เคยชี้แจงว่าหนี้สินค่าจ้างที่ บริษัทกรุงเทพธนาคม ทำสัญญากับบริษัทเอกชนอยู่มีมูลค่าสูง หรือ จัดเก็บ 15 บาทไม่มีทางพอชำระหนี้สินได้ และต้องมีส่วนต่างต้องเอางบประมาณมาจ่ายกทม.มาช่วยเติม จึงต้องนำเรื่องเข้าสภาฯให้รับทราบ และเพื่อให้เกิดวามรอบคอบในทางกฎหมาย
สำหรับภาระหนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้บริการเดินรถ มีมูลค่าปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท
ส่วนประเด็นเรื่องความเห็น เกี่ยวกับบทสรุปโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กระทรวงมหาดไทยส่งมาสอบถาม ถ้าเมื่อสภากทม. ให้ความเห็นอย่างหนึ่้งอย่างใด กทม.จะมีการตอบกลับเป็นหนังสือต่อไป
โดยความเห็นของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นั้นมี 2 แนวทาง คือ
1.เห็นว่าไม่ควรมีการต่อสัมปทานโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2562 แต่ควรต่อสัมปทานโดยใช้วิธีการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพราะมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมพิจารณา
2.ขออุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงสร้างงานโยธาของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ก็มีการขออุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงสร้างโยธาเช่นกัน
“เราคิดว่า ถ้าเกิดจะต่อสัมปทาน อย่างที่อยู่ในครม. ควรจะทำพ.ร.บ.ร่วมทุนให้เรียบร้อย เพราะพ.ร.บ.ร่วมทุน มีการคิดอย่างละเอียด มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานมา และเรื่องเกี่ยวกับภาวะหนี้โครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้าทุกสายก็ช่วยโครงสร้างพื้นฐานหมด ถ้าโยนมาให้ประชาชนเป็นผู้ออกค่าโครงสร้างพื้นฐาน จะทำค่าโดยสารสูง แต่ถ้ารัฐช่วยออกจะให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าโดยสารถูกลง รัฐบาลได้รับเงินกลับมาในรูปแบบภาษี แต่ถ้าโยนภาระให้ กทม. กทม.ก็ต้องเอาตรงนี้ไปคิดเป็นค่าโดยสาร ก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น”