วิกฤตการระบาดของโรค ASF ในสุกร ได้สร้างความเสียหายให้กับวงการเลี้ยงหมูไทยอย่างรุนแรง กำลังการผลิตลดลงกว่าครึ่ง เหลือผู้เลี้ยงเพียง 100,000 กว่าราย นำไปสู่ปัญหาเนื้อหมูขาดแคลน ส่งผลให้ราคาปรับสูงทะลุกิโลกรัมละ 200 บาท ตามกลไกตลาด กลายเป็นโอกาสให้ “มิจฉาชีพ” เข้ามาหาประโยชน์ ด้วยการลักลอบนำ “หมูเถื่อน” จากต่างประเทศมาจำหน่าย เพื่อกอบโกยกำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร หรือแม้แต่ความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างเราๆ
จนกระทั่ง “หมูเถื่อน” ระบาดไปทุกหนแห่ง มีการประกาศขายผ่านโซเซียลมีเดียแบบไม่เกรงกลัวความผิด จนผู้เลี้ยงทนไม่ไหว ออกมาเรียกร้องให้รัฐ ดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้รายงานการตรวจจับและทำลาย “หมูเถื่อน” เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับข้อมูลที่คาดว่า มีการนำเข้ามาเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้คอนเทรนเนอร์ นำไปสู่ความสงสัยว่า หมูเถื่อนเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร? มาช่องทางไหน? ได้ผ่านด่านตรวจสอบการนำเข้าหรือไม่?…แล้วหลุดรอดเข้ามาได้อย่างไร?
เมื่อเกิดคำถามถึงความโปร่งใสของหน่วยงานรัฐ ตัวแทนเกษตรกรยังเข้าไปยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.). ให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามหมูเถื่อน ในวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา เพราะทุกการจับกุมไม่เคยเปิดเผยถึงชื่อผู้กระทำความผิด และไม่เคยสืบสวนไปจนถึงต้นตอ หรือเอาผิดกับผู้นำเข้าได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ส่งผลให้ “กรมศุลกากร” และ “กรมปศุสัตว์” ถูกจับตาการทำงานทันที
เนื่องจากรายงานการตรวจจับ “หมูเถื่อน” ที่ผ่านมา เป็นการจับกุมระหว่างการขนส่ง หรือที่ห้องเย็นที่รับฝากสินค้าทั้งหมด ดำเนินการตรวจยึดด้วยข้อหา นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งตอกย้ำความสงสัยยิ่งขึ้นว่า “หมูเถื่อน” ผ่าน “ท่าเรือแหลมฉบัง” หรือ “ด่านชายแดน” มาได้อย่างไร? มีความบกพร่อง หรือปล่อยปะละเลยจากหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ? และทุกการจับกุมเพียงดำเนินคดีกับเจ้าของห้องเย็น หรือเจ้าของรถขนส่งเท่านั้น โดยอ้างไม่ทราบที่มาของสินค้าผิดกฎหมาย จึงไม่มีการสาวไปถึงผู้นำเข้า ส่งผลให้ตัวการใหญ่ก็ได้ใจ ปัญหาหมูเถื่อนก็แก้ไขให้จบไม่ได้เสียที
จากความสงสัยถึงความเอาจริงเองจังในการปราบปราม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย “กรมปศุสัตว์” จึงขยับก่อนด้วยการโยกย้ายด่วน ข้าราชการหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ ที่รับผิดชอบท่าเรือแหลมฉบัง ทันที พร้อมจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย เพื่อจบปัญหา “หมูเถื่อน” อย่างเด็ดขาด ก็เหลือ “กรมศุลกากร” ที่เป็นต้นทางของการนำเข้าว่า จะยกระดับจัดการปัญหาให้จบอย่างไร จะใช้อำนาจหรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีในการตรวจจับหมูเถื่อนตั้งแต่ “ท่าเรือแหลมฉบัง” หรือ “ที่ด่านชายแดน” แทนการไล่ตามจับที่รถขนส่งหรือห้องเย็นได้หรือไม่ และในฐานะที่มีรายชื่อผู้นำเข้าอยู่แล้ว จะเป็นเจ้าภาพให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานสืบสวนขยายผลติดตามจับกุม “ตัวการใหญ่” ของขบวนการลักลอบนำเข้ามาดำเนินคดีให้ถึงที่สุดได้หรือไม่ ?
หากยังปล่อยให้ “หมูเถื่อน” เกลื่อนเมืองไปเช่นนี้ ยิ่งตัดโอกาสการฟื้นฟูการเลี้ยงหมูไทย เพราะหมูเถื่อนยังมีโอกาสเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อ ASF เข้ามาสร้างความเสียหายซ้ำซาก ทำให้การควบคุมจนโรคสงบไปกว่า 60 วัน ของไทย สูญเปล่า ผู้เลี้ยง โดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กไม่มีกำลังใจลงเลี้ยง เพราะแข่งขันไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะอาจมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ เดินหน้าถอนรากถอนโคน “หมูเถื่อน” ให้หมดไปจากประเทศไทย