เมื่อมี “หมูเถื่อน” เข้ามาระบาดก็กลายเป็นวิกฤตซ้ำเติมผู้เลี้ยง เนื่องจากชิ้นส่วนหมูที่ลักลอบนำเข้านี้ได้เข้ามาแย่งตลาดเนื้อหมูในประเทศ ด้วยการขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด กระทบต่อราคาหมูในประเทศ บิดเบือนกลไกราคาที่แท้จริง ทำให้เกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย รายกลางบางรายถอดใจไม่กล้ากลับมาเลี้ยงใหม่ เพราะผู้เลี้ยงจำเป็นต้องลงทุนยกระดับการป้องกันโรค ระบบไบโอซีเคียวริตี้ที่เข้มงวด ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกตัวละกว่าร้อยบาท นอกจากนี้ “หมูเถื่อน” ยังมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อก่อโรคทั้ง ASF และโรคต่างถิ่น เข้ามาสร้างความเสียหายได้เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กที่หากเสียหายซ้ำ ก็อาจต้องออกจากอาชีพการเลี้ยงหมูไปในที่สุด
ขณะที่กำลังการผลิตหมูของไทยที่ลดลงไปกว่าครึ่ง เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาหมูหน้าฟาร์มปรับสูงขึ้น และจูงใจให้ผู้เลี้ยงหันมาฟื้นฟูการผลิต แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นมาก ตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และข้าวสาลี ที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตขึ้นมาแตะที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มยังถูกขอความร่วมมือไว้ที่กิโลกรัมละ 100 บาท เช่นกัน ส่วนราคาซื้อขายจริงอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ ส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไรอยู่แล้ว
ASF เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเสียหายต่อการเลี้ยงหมูไทย ทำให้กำลังการผลิตหมูหายไปเกือบ 50% ส่งผลให้หมูไทยมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ดึงให้ราคาเนื้อหมูปรับสูงทะลุกิโลกรัมละ 200 บาท เปิดโอกาสให้ “มิจฉาชีพ” ลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” จากต่างประเทศมาขายในราคาถูกอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนแพร่ระบาดไปทั่วภูมิภาค ฉกฉวยผลประโยชน์เข้าตัวเอง โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดตามมากับเกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้บริโภค และประเทศไทย
ช่วงที่ผ่านมากรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรดำเนินการปราบปราม “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าไทยอย่างจริงจัง ส่งผลให้การลักลอบนำเข้าทำได้ยากขึ้น ช่องทางเดิมถูกดักจับกุมได้บ่อยครั้ง ถึงแม้สาวไปไม่ถึงตัวการใหญ่ แต่ก็ส่งผลกระทบให้การทำงานไม่สะดวก เหล่ามิจฉาชีพจึงปรับเปลี่ยนช่องทางลักลอบจากท่าเรือไทยที่ถูกเพ่งเล็ง แล้วย้ายไปขึ้นของที่ท่าเรือประเทศเพื่อนบ้านแทน ก่อนนำขึ้นรถขนส่งเข้ามาตามแนวชายแดน เป็นเหตุให้มีรายงานการจับกุมพบตามด่านพรมแดนเพิ่มขึ้น แต่ยังคงสาวไปถึงต้นตอไม่ได้เช่นเดิม
การปรับช่องทางลักลอบ เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า “หมูเถื่อน” มีต้นทุนต่ำมาก เพราะเมื่อรวมค่าจัดเก็บ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามระยะทางขนส่งแล้วยังทำกำไรได้ ก็มั่นใจได้ว่า หมูเถื่อนน่าจะมีคุณภาพต่ำเตี้ยเรี่ยดินไม่ต่างจาก “หมูขยะ” ซึ่งจากการจับกุมหลายครั้ง ทำให้ทราบว่า สินค้าบางล็อตหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ เป็นชิ้นส่วนแช่แข็งบรรจุในกล่องที่แตกเสียหาย สกปรก เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงสารที่อาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภค
เนื่องจาก “หมูเถื่อน” ไม่ผ่านกระบวนการตรวจโรคและเต็มไปด้วยสารตกค้าง มาจากประเทศทางตะวันตกที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง “แรคโตพามีน” ซึ่งเป็นสารที่ผิดกฎหมายไทย รวมทั้งยังอาจมียาปฏิชีวนะ และสารตกค้างอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ที่สำคัญ “หมูเถื่อน” เหล่านี้ยังเก่าเก็บผลิตข้ามเดือนข้ามปี บางส่วนก็หมดอายุก่อนมาถึงเมืองไทยด้วย ถือเป็นภัยใกล้ตัวผู้บริโภคที่อาจทานหมูเถื่อนเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะผู้ค้าไม่ได้ระบุก่อนซื้อว่า เนื้อหมูราคาถูกที่นำมาขายนั้น มาจากที่ใด ปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่
สุดท้าย “หมูเถื่อน” ยังเป็นปัจจัยที่ทำลายความมั่นคงทางอาหารของไทย เพราะหากเกษตรกรถอดใจออกจากระบบการผลิตหมูไปหมด ส่งผลให้ไทยไม่มีเนื้อหมูปลอดภัยรองรับความต้องการในประเทศ ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ก็ไม่มีแหล่งรับซื้อวัตถุดิบ เพราะไม่มีผู้เลี้ยงหมู สร้างความเสียหายต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งระบบกว่า 200,000 ล้านบาท ในขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องเสี่ยงกับสารอันตรายที่มาจากเนื้อหมูนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ “ขบวนการหมูเถื่อน” จึงไม่ต่างกับโจรปล้นชาติ ที่ต้องกวาดล้างให้สิ้นซาก โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยและช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป.