ตามติดเนื่องกับผลรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นจากการที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติเสียงข้างมาก รับทราบแผนการควบรวมกิจการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC พร้อมออกเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม
ล่าสุด รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำ คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์แข่งขันทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ท่ามกลางเสียงคัดค้านของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่อ้างถึงจำนวนผู้สนับสนุน 2,022 รายชื่อ จากปริมาณผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจริงราว 100 ล้านเลขหมาย (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ) ว่า ปัจจุบันก่อนการควบรวมผู้ที่มีคลื่นมากที่สุดคือ AIS แต่หลังจากการควบรวมเสร็จสิ้น จะทำให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้งสองรายคือ AIS และ TRUE- DTAC ถือครองคลื่น รวมถึงปริมาณผู้ใช้บริการในจำนวนใกล้เคียงกัน
ดังนั้น กรณีที่มีกระแสข่าวว่าการมีการยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลปกครอง โดย บริษัท บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในฐานะบริษัทย่อยของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ขอให้ศาลฯมีคำสั่งห้ามการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC โดยขอให้คู่แข่งลดจำนวนคลื่น จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าจับตา เพราะมีการอ้างถึงคำร้องต่อศาลฯ ว่ามติของ กสทช.ขัดแย้งกับเงื่อนไขการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในอดีต ในการห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือแบนด์วิธรวมของคลื่นความถี่ในหลายช่วงความถี่ เกินหลักเกณฑ์การจำกัดคลื่นความถี่ ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่จริง ๆ แล้วหลักการดังกล่าว ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือลูกค้าจะได้บริการที่ดี และที่สำคัญผู้เล่นทุกรายจะมีจำนวนคลื่นที่ใกล้เคียงกัน