“นายกฯ” รับเสด็จเจ้าชายซาอุฯ ร่วมประชุมเอเปคในฐานะแขกพิเศษ ก่อนหารือทวิภาคีร่วมกัน ฟื้นสัมพันธ์ในรอบ 32 ปี

"นายกฯ" รับเสด็จเจ้าชายซาอุฯ ร่วมประชุมเอเปคในฐานะแขกพิเศษ ก่อนหารือทวิภาคีร่วมกัน ฟื้นสัมพันธ์ในรอบ 32 ปี

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 65 เวลา 23.15 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา เฝ้ารับเสด็จ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง

 

 

โดยในวันนี้ (18 พ.ย.)  มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจะเข้าร่วมในการประชุมในการประชุมเอเปค 2022 ครั้งที่ 29 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 ในฐานะแขกพิเศษ พร้อมกับประเทศฝรั่งเศส

ขณะที่วันนี้  ในเวลา 22.30 น. เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จะพบหารือทวิภาคี กับนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเตรียมลงนามเอกสาร 3 ฉบับ ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี

 

 

โดยร่างเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ประกอบด้วย 1.ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567) 2.ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย และ 3.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่างเอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ จะมีการลงนามระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และนายกรัฐมนตรีชาอุดีอาระเบีย ในการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยเอกสารแต่ละฉบับมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ฉบับแรก คือ ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย 1)ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางพิเศษ และหนังสือเดินทางราชการ และจัดหาที่ดินที่มีความเหมาะสมสำหรับสถานเอกอัครราชทูต และทำเนียบเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเทพฯ 2)ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ศึกษาประเด็นความร่วมมือในภาคพลังงาน เพิ่มการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการลงทุนหรือการเงิน และจัดทำความตกลง 2 ฉบับเกี่ยวกับการรับสมัครแรงงานไทย 3)ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในด้านศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และแสวงหาความร่วมมือด้านกีฬา อีสปอร์ต และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกันด้วย เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อน

ฉบับที่สอง คือ ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมในการหารือและส่งเสริมความร่วมมือที่สนใจร่วมกันในทุกมิติ ซึ่งจะกำหนดให้มีจัดประชุมร่วมกันเป็นระยะและสลับกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อติดตามความคืบหน้าของข้อริเริ่มที่จะดำเนินการภายใต้แผนการขับเคลื่อน ส่วนกลไกลการทำงาน จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน โดยประธานสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย เป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน และมีอำนาจอนุมัติโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารองค์กร รวมถึงระเบียบปฏิบัติขององค์กร ทั้งนี้ การจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย และการมอบหมายภารกิจ จะต้องไม่ขัดกับสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่เดิมของทั้งสองประเทศ

 

 

ส่วนฉบับที่สาม คือ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสองประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงและโอกาสทางธุรกิจ 2.การแลกเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนโดยตรง และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของทั้งสองประเทศ 3.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศ ส่วนการขับเคลื่อนความร่วมมือนั้น จะดำเนินการ ดังนี้ 1.ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดนิทรรศการ การทำงาน การประชุม และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุนโดยตรง 2.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือน ความเชี่ยวชาญ และอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคนิคของทั้งสองประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุนโดยตรงของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะใช้มาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองการลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งตามกลไกที่ตกลงกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ โดยแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ

เอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นพันธมิตรในระดับภูมิภาคของกันและกัน และถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทย ถือเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียในรอบ 32 ปี

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น