ยังเป็นประเด็นร้อนต้องติดตาม สืบเนื่องจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจแพร่คลิปความยาวกว่า 2 นาที ในหัวข้อ “คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน … ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน …ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา …อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน”
โดยช่วงหนึ่ง นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ระบุ “ถึงเวลาจ่ายเงินที่ควรจ่าย 3 ปีกว่า จำนวนเงิน 40,000 กว่าล้าน เพราะเอกชนผู้ลงทุน จ่ายทุกวัน พนักงานก็ต้องจ่าย ค่าไฟต้องจ่าย ผู้ที่มีอำนาจ บริหารประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือการเมืองของประเทศ ต้องเข้ามาดูได้แล้ว
ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านใดที่อยู่ในอำนาจควรคิดได้แล้วว่า ดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ยังไงก็ต้องจ่ายผม มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย ผมเชื่อว่าประชาชน ภาษีเราเสียหาย อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้
อย่างไรก็ตาม นายคีรี เน้นย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทำอยู่อย่างเดียวก็คือ เราจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผมรับปากกับประชาชน ว่าผมจะไม่ยอมหยุดรถ เพราะหยุดรถนี่ ความเสียหายเกิดกับประชาชน ไม่ได้เกิดกับผมอย่างเดียว ไม่ได้เกิดกับนักการเมืองคนไหน ผมเชื่อว่าผู้โดยสารของผม ซึ่งผมก็ต่อสู้ให้ท่านทุกวันนี้ คงเข้าใจผม”
เพราะหลังจากนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ยังคงแสดงท่าทีปฏิเสธดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ให้ กทม. และ บริษัทกรุงเทพธนาคม ชำระหนี้จำนวนกว่า 2 หมื่นล้าน ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ไม่นับรวมหนี้ค้างชำระ อีกกว่า 2 หมื่นล้าน สำหรับค่าติดตั้งงาน ระบบไฟฟ้า/เครื่องกล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ทั้ง 2 ช่วง หรือช่วงแรก จาก สะพานตากสิน -บางหว้า และช่วงอ่อนนุช –แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 จาก หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ
โดยอ้างว่า ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์ และ กทม.จะชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายใต้ข้อบัญญัติ กทม. เพราะการสร้างภาระหนี้ผูกพันงบประมาณ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.ก่อน
พร้อมระบุว่า สภา กทม.ยังไม่ได้เห็นชอบทำสัญญาจ้างเดินรถ และติดตั้งงานระบบ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จึงมีการทำหนังสือเพื่อสอบถามทางสำนักงานเลขาธิการสภา กทม.ว่า ส่วนนี้ผ่านการอนุมัติจากสภา กทม.แล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องมีการทำสัญญาใหม่ให้เรียบร้อยก่อน
ส่วนมูลหนี้จากส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 เหลือเพียงแต่ให้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 และยืนยันว่ากทม.ไม่ได้มีปัญหา เพราะเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย
ล่าสุด นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าการกทม. พร้อมด้วย นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ได้แถลงข่าวถึงประเด็นที่เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเน้นย้ำว่า ขณะนี้อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ กทม. แต่อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และครม. ในการพิจารณาว่าตะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจาก กทม. ได้ให้ความเห็นที่กระทรวงมหาดไทยขอมาจำนวน 3 ข้อไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ฝ่ายบริหารเห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation หรือ 1. ให้รัฐบาลสนับสนุน งบประมาณสําหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ 2. เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟเาสาย สีเขียวตาม พรบ. ร่วมทุน 2562 และ 3. การหาข้อยุติของ ครม. ตามคําสั่ง คสช. เพื่อทําให้เกิดความชัดเจนในการดําเนินงาน ซึ่งหาก ครม.มีมติออกมาเช่นไร กทม. ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามมติของครม.
รวมถึงหากที่ประชุม ครม. มีการพิจารณาและมีมติให้ขยายสัมปทาน ทุ กอย่างจะไปเป็นตามสัญญาใหม่ที่เอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ถ้า ครม.ไม่อนุมัติขยายสัญญาสัมปทาน กทม.ที่จะต้องนำเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่ ให้เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมี 2 วิธี ได้แก่ 1.ให้สภา กทม.ให้สัตยาบันย้อนหลัง เรื่องสัญญาจ้างเดินรถและสัญญาติดตั้งระบบ และ 2. หากสภา กทม.ไม่ให้สัตยาบัน ก็ต้องรอคำตัดสินอุทธรณ์ของศาลปกครองว่าจะพิจารณาอย่างไร