วันที่ 2 ธ.ค.65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานเพื่อรองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม รวมถึงประชาชนให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานภูเก็ต
โดยนายศักดิ์สยาม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ดังนี้
1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ดังนี้
1.1 มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เช่น โครงการ ทล. 4027 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ท่าเรืออ่าวปอ ตอน บ้านป่าคลอก – บ้านพารา ระยะทาง 8.10 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2566 การพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เช่น โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ตามแผน จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2570 การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 จำนวน 17 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 โครงการ การพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามัน
การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางกับภาคอื่นของประเทศ อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเส้นทาง โดยมีเส้นทางที่ผ่านจังหวัดภูเก็ต คือ MR9 สุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต เป็นการเชื่อมโยงแนวเส้นทางการเดินทางและขนส่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีจุดเริ่มต้น รวมประมาณ 252 กิโลเมตร มีช่วงที่พัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ระยะทางรวมประมาณ 155 กม. ประกอบด้วย ช่วงดอนสัก – สุราษฎร์ธานี และช่วงพังงา – ภูเก็ต
1.2 มิติการพัฒนาทางราง ประกอบด้วย
1) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปยังท่าฉัตรไชย คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
2) แผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560 – 2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 เส้นทาง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 เส้นทาง ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2566 และแผนพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงาน EIA นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ระยะถัดไปอีก 12 เส้นทาง โดยมีเส้นทางที่ผ่านจังหวัดภูเก็ต คือ ช่วงสุราษฎร์ธานี – พังงา – ท่านุ่น
3) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยง พื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-MAP) โดยมีแนวเส้นทางโครงการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 สถานี ผ่านพื้นที่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร
1.3 มิติการพัฒนาทางน้ำ ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อสามารถรองรับเรือครูซขนาดเล็กได้ และเสนอแนวทาง การพัฒนาให้มี Landing Pier ที่อ่าวป่าตอง การพัฒนา Smart Pier ท่าเรือในจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) และการขุดลอกร่องน้ำภูเก็ต (ท่าเรือน้ำลึก) จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการขุดลอกแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565
1.4 มิติการพัฒนาทางอากาศ สำหรับท่าอากาศยานที่อยู่ในภาคใต้มีจำนวน 11 แห่ง ปัจจุบันมีแผนการพัฒนา จำนวน 8 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 6 แห่ง และได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 2565 เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง
สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายหลุมจอดอากาศยาน ลานจอดอุปกรณ์ภาคพื้น และการขยายขีดความสามารถระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 12.5 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570