วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ตามที่ iLaw ได้จัดสัมมนา จุดยืนของพรรคการเมือง กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทยและพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมา โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอแพคเกจแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์กฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง กล่าวว่า ข้อเสนอของแต่ละพรรคการเมืองที่เข้าร่วมสัมมนา มีความพยายามจะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายอีกมุมหนึ่งให้แก่ประชาชน กรณีนายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ไม่เกินสิบห้าปี ไม่แตกต่างจากไอติม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เคยถามไปหลายครั้งว่า หากแก้ไขแล้ว ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร ทำไมถึงจมปลักจ้องจะแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกฎหมายอาญาอื่นๆ ข้อเสนอแก้ไข ดังนี้ (1)การกระทำต่อพระมหากษัตริย์ แก้ไขโทษเป็นอจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินสามแสนหรือทั้งจำทั้งปรับ (2)การกระทำต่อพระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทน แก้ไขโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการลดโทษให้เบาลง ควรจะเพิ่มโทษจำคุกและปรับให้หนักขึ้นและห้ามประกันตัว ความเห็นต่างทางการเมืองกับการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง หากไม่นำเรื่องการเมืองมายุ่งกับพระองค์ท่าน ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข. จะเห็นว่า ในฐานความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คุณธรรมทางกฎหมายเฉพาะบุคคลที่บัญญัติไว้ ตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดมาตรา 112 ไม่ครอบคลุมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป หากแก้ไข ควรแก้ไขให้ครอบคลุมถึงด้วย ข้อเสนอให้แก้ไขโทษเบา เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่สบายใจและไม่เห็นด้วย เพราะแนวทางเสนอให้แก้ไขโทษให้เบาลง จำคุกไม่เกินหนึ่ง ทำให้คนบางกลุ่มที่ชอบกระทำซ้ำ ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดมาตรา 112 มากขึ้นเพราะโทษเบา ซึ่งความเห็นต่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ควรเอามาเกี่ยวข้องกับการเมือง จะบอกว่า สาเหตุการแก้ไขโทษเพราะความเห็นต่าง ต้องถามว่า เห็นต่างเรื่องอะไร ต้องพูดให้ชัด จะทำให้ประชาชนสับสน
กรณีแนวคิดของนายรังสิมันต์ โรม ข้อเสนอแก้ไขลักษณะ 1 ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมาตรา 112 อยู่ในหมวด 1 ว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ฯ โดยแยกหมวดใหม่ โดยนายรังสิมันต์ ฯ อ้างว่า มีผลต่อการประกันตัว ซึ่งสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดีว่าร้ายแรงหรือไม่และจะหลบหนีหรือไม่ แต่ละคดีย่อมแตกต่างกัน ข้อเสนอให้บัญญัติไปอยู่ในหมวดใหม่ ย่อมไม่มีผลกระทบต่อการปล่อยตัวชั่วคราว แต่จับไต๋ได้ว่า เป็นเทคนิคการแก้ไขกฎหมาย จากความผิดอาญาแผ่นดินมาเป็นความผิดต่อส่วนตัว เนื่องจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ผู้ร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ คือ สำนักพระราชวัง เป็นการจำกัดกรอบ ประชาชนทั่วไปพบเห็นการกระทำความผิด ไม่สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ เพราะหากเป็นความผิดต่อส่วนตัว ย่อมเป็นความผิดอันยอมความได้ หากแก้ไขแนวทางนี้ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดคดีมากมายและจะให้พระองค์ท่านซึ่งเป็นประมุขของรัฐ ยากลำบากต่อกระบวนการตัดสินใจ กฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว เพียงเพิ่มเติมโทษ จำคุกตั้งแต่ ห้าปี ถึงยี่สิบปี ให้มันเข็ดหลาบ ไม่กลับมากระทำความผิดอีก