วันที่ 9 ธ.ค. 65 ที่ลานกิจกรรมสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี พรรคประชาธิปัตย์จัดกิจกรรม “ฟัง-คิด-ทำ : ถึงเวลาหยุดคนโกง หยุดงบประมาณรั่วไหล” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล โดยมีการเปิดเสวนามุมมองจากภาควิชาการ การเมือง และภาคธุรกิจ
โดย น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีเหตุการณ์สำคัญ คือ การนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2566 กิจกรรมฟังคิดทำจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนจะนำไปสู่กระบวนการตกผลึกจัดทำเป็นนโยบาย และวันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญคือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ซึ่งบทบาทในการต่อต้านการคอร์รัปชันถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญบทบาทของพรรคการเมือง และวันนี้เห็นได้ชัดว่า ประชาชนมองว่าประเทศไทยยังอยู่ในหลุมดำของการทุจริตคอร์รัปชัน และปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญให้หลายประเทศไม่สามารถพัฒนาได้ คือปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นวันนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงมีความตั้งใจและจะแสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังในการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำงานอย่างโปร่งใสของภาครัฐ เพื่อยกระดับของประเทศ
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้รู้สึกเซอร์ไพร์ส ซึ่งตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ตนเคลื่อนไหวเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน น่าจะเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองจัดเวทีแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนหัวของปัญหาคือภาคของการเมือง เพราะภาคการเมืองมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ มีอำนาจกำหนดงบประมาณ รวมถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ทุกวันนี้ประเทศไทยมีแผนงานด้านการต่อต้านการคอร์รัปชันจำนวนมาก แต่ไม่มีการปฏิบัติจริง อีกทั้งรากฐานของการคอร์รัปชันที่เอาชนะไม่ได้คือการทำอะไรแล้วไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญของการคอร์รัปชัน คือ วัฒนธรรมในระบบราชการ ที่ยังชินชากับการคอรัปชัน การรับส่วย รับสินบน
ส่วน ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มองว่า การทุจริตคอร์รัปชันขึ้นอยู่กับการผูกขาดธุรกิจและการเมือง การใช่ดุลพินิจของระบบราชการและการเมืองในการตัดสินใจทำนโยบายต่างๆ ซึ่งการจะทำให้การคอร์รัปชันลดลงคือต้องมีองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบ โดยประเทศไทยมีองค์กรในการตรวจสอบจำนวนมาก แต่มีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถดูได้จากการจัดอันดับของหน่วยงานนานาชาติ จะเห็นได้ชัดว่าประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำลง ดังนั้นจะเห็นว่ากลไกองค์กรอิสระของประเทศไทยจึงอาจจะยังมีปัญหาอยู่ เพราะการจัดอันดับของแระเทศไทยค่อนข้างได้คะแนนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ก็ยังโชคดีที่ไม่ได้ต่ำสุด ซึ่งแผนนโยบายของชาติต้องการทำให้ดีขึ้น แต่ยังทำไม่ได้ การเพิ่มคะแนนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก โดยอาจจะต้องใช้กลไกหรือองค์ประกอบของต่างประเทศในส่วนที่จำเป็นมาประยุกต์ เช่น กรณีไต้หวัน ที่มีการทำแพตฟอร์มร่วมกันภาคเอกชน ภาคประชาชนในการเปิดเผยข้อมูล ดังนั้นจึงมองว่าใช้ระบบดิจิตอลมาช่วยในการจัดการข้อมูลจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ระดับการทุจริตลดลงได้