สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยน.ส.สารี อ๋องสมหวัง ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้พิพากษาเพิกถอนมติ ณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการ “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉินขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้อง ขอเพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC แต่ในกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลเพียงแต่ไรับคำขอดังกล่าวไว้ เพื่อรอให้ TRUE – DTAC ข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าวก่อนจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากมองว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบจากการพิพากษาคดี ดังนั้น จำเป็นต้องให้ทั้ง 2 บริษัท ได้มีโอกาสชี้แจงโต้แย้งข้อเท็จจริงต่อศาล จึงมีคำสั่งเรียก TRUE – DTAC เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยคำร้องของสภาองค์กรของผู้บริโภคกับพวกรวม 5 คน ที่ให้ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาใน 4 ประเด็นหลัก ซึ่งอาจมีผลทำให้การรวมธุรกิจ TRUE – DTAC จะต้องชะลอไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษานั้น
โดยศาลปกครองวินิจฉัย พิจารณาถึงอำนาจการมีมติของคณะกรรมการกสทช.ที่รับทราบการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC โดยเห็นชอบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะว่า ไม่มีเหตุจะรับฟังได้ว่ามติดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก เนื่องจากไม่มีผลทำให้คำสั่งเปลี่ยนแปลงไป จึงมีคำสั่งยกคำขอ ส่งผลให้แผนการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปตามกรอบเวลา