พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” คำชี้แจง รฟม ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยว่า “การทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทมีจริง”
กรณี สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โต้ BTS ปมทุจริต สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อนั้น เห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 235,320 ล้านบาท ที่การประมูลรอบแรกเมื่อปี 2563 หากไม่ยกเลิก และ BTS ชนะการประมูล รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสองเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่ง BEM ชนะการประมูล รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ในทางเทคนิคก็คือสร้างสิ่งเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 รฟม ได้ออกแถลงการณ์คำชี้แจงนั้น ไม่ได้ตอบชี้แจงให้หายสงสัยในประเด็นของการทุจริต ที่รัฐต้องรับภาระแพงขึ้นประมาณ 68,612 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ แต่การชี้แจงของ รฟม ได้เพิ่มความสงสัยและน่าเชื่อว่าการทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท มีจริง เพราะ
1. ข้อกล่าวหา “รฟม เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล” ทำไมต้องกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย ที่เปลี่ยนคือคุณสมบัติผู้เสนอราคาโดยเพิ่มคุณสมบัติเดินรถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศไทยเท่านั้นมาจากต่างประเทศก็ได้ ส่วนคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องมีผลงานตรงกับรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จเท่านั้น ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการ กีดกันไม่ให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย และไม่เป็น international competition Bidding ตาม มติ ครม เพียงเพราะต้องการกีดกันไม่ให้ BTS ที่เข้าประมูลครั้งแรกได้ แต่ไม่สามารถเข้าประมูลตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 ได้ ซึ่งการยกเลิกการประมูลที่ 1 นั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ‘การยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย’ ปมสงสัยการทุจริต คือการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “ลดคุณสมบัติผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติผู้รับเหมาขึ้น” ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย เนื้องานก่อสร้างยังคงเดิม แต่ “การกีดกัน BTS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี (ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเดินรถมีเพียง 3 รายเท่านั้น) ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่เพราะขาดคุณสมบัติต้องห้ามด้านการรับเหมา ทำให้ผู้เสนอราคาได้แค่รายเดียวคือ BEM ซึ่งเสนองานแพงกว่ากลุ่ม BTS ที่เสนอราคาครั้งที่ 1 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ?
การที่ รฟม. ชี้แจงว่า “เอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีกและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเสมือน “ถามช้างตอบม้า ถามวัวตอบควาย” ตอบไม่ตรงคำถาม สิ่งที่ประชาชนและสังคมต้องการทราบว่าทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และมีใครบ้างเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ ?