“ดร.มานะ” โต้แถลงรฟม.อ้าง ACT การันตีรถไฟฟ้าสีส้มโปร่งใส

"ดร.มานะ" โต้แถลงรฟม.อ้าง ACT การันตีรถไฟฟ้าสีส้มโปร่งใส

สืบเนื่องจากการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้ออกเอกสารชี้แจงเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 เพื่อตอบโต้กรณี นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะภาคเอกชนผู้สัมปทานโครงการภาครัฐ แสดงความเห็นถึงปัญหาการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางช่วงตอนว่า อยากให้ผู้นำรัฐบาล ครม. ร่วมกันคิด ถ้าจะให้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านไป ต้องตอบประชาชนให้ได้ด้วยว่า ทำไมถึงราคาผิดไปจากเดิม และถ้าครม.ชุดนี้ให้การประมูลผ่านไปโดยไม่มีการตรวจสอบให้ดี จะกลายเป็นการทำบาปกับประเทศชาติแน่นอน

โดย นายคีรี ให้ข้อมูลถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ว่า มติครม.ให้ผ่านและให้มีการประมูล โดยมีการผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุนเรียบร้อย รวมถึงมีการขายซองให้ผู้ประมูลแล้ว 10 ราย รวมถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC

โดยมี 2 บริษัทที่ร่วมประมูลในโครงการเดียวกันเท่ากัน สเป็กเหมือนกันหมด แต่ตนไม่ทราบว่าบริษัทคู่แข่งเสนอราคาให้เท่าไหร่ จะชนะหรือไม่ เพราะถ้าหากชนะต้องให้ราคาต่ำกว่าตน ซึ่งราคาที่ BTSC ยื่นประมูลไปเท่ากับวิธีคิดราคาในวันนี้ คือ ไม่ถึง 9 พันกว่าล้านบาท ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนเพื่อให้ได้รถไฟฟ้าสายสีส้ม

แต่วันนี้กลับอ้างทุกอย่าง อาจจะมาจากเจ้ากระทรวง องค์การที่ดูแลเรื่องนี้ คิดอะไรไม่ทราบ สิ่งที่ออกมาคือประกาศผู้ที่ชนะ รัฐบาลต้องจ่ายอีกเป็นเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท ผิดไปถึง 6 หมื่นกว่าล้าน ตนอยากถามเจ้ากระทรวง องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาล ว่าหากผ่านไปจะตอบกับประชาชนอย่างไร

โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างยังไม่ได้ยื่นซอง ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนข้อกำหนด หลักเกณทีโออาร์ ซึ่งปกติไม่เคยเจอเรื่องลักษณะนี้ และมองว่าเป็นเรื่องแปลก หรือ อาจจะไม่โปร่งใส BTSC จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ก่อนศาลจะมีคำสั่งคุ้มครอง ซึ่งหมายความว่าให้กลับไปใช้เงื่อนไขเดิม

ทั้งนี้ เนื้อหาของการแถลงการณ์ตอบโต้ รฟม. ข้อหนึ่งระบุว่า การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่โปร่งใสภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนได้ส่งผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนฯ ทุกขั้นตอน และไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดๆ จากผู้สังเกตการณ์

 

ล่าสุด ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงเรื่องดังกล่าว ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นการประมูลที่ “อัปลักษณ์” และ “ไม่สง่างาม” เอาเลยของรฟม. ในการประมูลรอบแรกขาย TOR แล้วล้มไป หลังจากที่ทำหลายอย่าง “ไม่ถูกต้อง-ไม่มีธรรมาภิบาล” โดยไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปรับรู้ในขั้นตอนการประมูล เนื่องจากไม่มีการใช้ข้อตกลงคุณธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อประมูลรอบที่ 2 จึงเริ่มใช้ข้อตกลงคุณธรรม และมีผู้สังเกตการณ์

ดร.มานะ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาอยู่ที่การประมูลรอบที่ 2 ทางรฟม.ได้นำ TOR เก่ามาแก้ไขเล็กน้อย เท่ากับตัว TOR เกือบจะเสร็จสมบูรณ์อยู่แล้ว แล้วผู้สังเกตการณ์ถึงจะได้เข้าไป และเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันที่จะใช้ตัว TOR ตรงนี้ “เพราะฉะนั้น ผู้สังเกตการณ์ แทบจะไม่มีส่วนอะไรเลยในการตรวจสอบ TOR ว่ามันถูกต้องตามหลักหรือเปล่า”

ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้สังเกตการณ์ทั้ง 5 คนที่เข้าไป บางครั้งไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม หรือเป็นการเชิญแบบกระชั้นชิดมาก ตั้งตัวไม่ทัน มีเวลาศึกษาเอกสารน้อยมาก และเราก็ไม่แน่ใจว่า ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ได้เห็นเอกสาร ได้รับรู้ข้อมูลการประชุมครบถ้วนหรือเปล่า และมีบางครั้ง ที่เค้าประชุมกัน และผู้สังเกตการณ์ อยู่ข้างนอก เมื่อประชุมสักหน่อยหนึ่ง แล้วถึงให้เข้าไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของข้อตกลงคุณธรรมตามเอกสารข้อมูลที่ได้รับจากรฟม. ที่เห็นในการประชุม เพราะฉะนั้น ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมจึงปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ครบถ้วนตามกรอบอำนาจแล้ว เพียงแต่ว่า มีข้อจำกัดของข้อมูลดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้ว่า ผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ร่วมประชุมทุกครั้งแบบตลอดรอดฝั่ง ดร.มานะ กล่าวว่า การันตีไม่ได้เลยสำหรับโครงการนี้

อย่างไรก็ตาม ดร.มานะ ย้ำว่าการมีข้อตกลงคุณธรรม และมีผู้สังเกตการณ์ ไม่ได้แปลว่า โครงการนั้น ๆ จะไม่มีการโกง จะไม่มีคอร์รัปชันเกิดขึ้น เพราะถ้าหากมีการฮั้ว กันก่อนการประมูล มีการล็อกสเป็ก เขียน TOR กีดกันคู่แข่ง มีพฤติกรรมที่เอื้อประโยชน์ให้กับรายใดรายหนึ่ง แล้วอยู่นอกเหนือกว่าสิ่งที่เราเห็น ตรงนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก อย่าลืมว่า เข้าไปเมื่อ TOR เกือบจะสมบูรณ์อยู่แล้ว เป็นการเอาของเก่ามาปรับปรุงและใช้งาน เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ถูกต้อง

โดยในส่วนของผู้สังเกตการณ์นั้น เมื่อได้รับแจ้งทุกท่านซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในวงการด้านวิศวกรรม ด้านระบบขนส่ง ด้านเศรษฐศาสตร์ หรือในเรื่องการประมูลงานภาครัฐ ก็พยายามแบ่งกันไป แต่ถ้ากระชั้นชิด ยากที่ท่านเหล่านี้จะทำหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์ แต่ทุกท่านก็พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่

 

ข่าวที่น่าสนใจ

สำหรับผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม จะเป็นอาสาสมัคร ท่านเหล่านี้จะเป็นข้าราชการเกษียณ เป็นวิศวกร หรือเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการลงทุน เป็นคนที่ชำนาญเรื่องวิศวกรรมยานยนต์ หรือระบบขนส่ง จะมีความหลากหลายอยู่ในแต่ละคณะ

ดร.มานะ ระบุว่า ภาพรวม ประเทศไทยมีการใช้ข้อตกลงคุณธรรม รวมแล้วประมาณ 150 โครงการ เป็นมูลค่ารวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ พบว่า จะมีราว 10% เป็นหน่วยงานที่เกเร ไม่ให้ความร่วมมือ และเหมือนกับว่าผู้บริหารของหน่วยงาน ไม่เข้าใจคุณประโยชน์ของการสร้างความโปร่งใส ของการทำงานโดยเปิดเผยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้น ตรงนี้น่าเป็นห่วง ซึ่งตอนนี้เราต้องประเมินกันอยู่ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถือว่าอยู่ใน 10% หรือไม่

มีข้อสังเกตอีกอันหนึ่งคือ ในอดีตข้อตกลงคุณธรรม จะปฏิบัติภายใต้กรอบการจัดซื้อจัดจ้าง ของกรมบัญชีกลาง ครั้งนี้เป็นโครงการแรกๆ ที่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งจะมีกติกาที่เปลี่ยนแปลงไปแตกต่างกันบ้าง

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ข้อตกลงคุณธรรม เป็นสิ่งที่โครงการใหญ่ๆ หรือเมกะโปรเจคท์ ใช้ประกอบเพื่อแสดงให้เห็นว่า ดูมีความโปร่งใส หรือสร้างประโยชน์กับประเทศชาติได้จริง ดร.มานะ กล่าวว่า ข้อตกลงคุณธรรม เป็นประโยชน์กับประเทศชาติแน่นอน ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ประหยัดให้การลงทุน ทำให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการและการวางแผนลดน้อยลง อันนี้พิสูจน์แล้วว่า จากประมาณ 150 โครงการที่ทำมา จำนวนโครงการที่ประมูลเสร็จสิ้นแล้ว มีการทำสัญญากันแล้ว สามารถช่วยให้เกิดการประหยัดโดยเฉลี่ยประมาณ 20-23% เท่ากับประหยัดเงินต่อปีประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งคุ้มค่ามาก ถ้าหน่วยงานเข้าใจคุณประโยชน์และให้ความร่วมมือ งานจะไปเร็ว และได้รับความไว้วางใจจากเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในวันข้างหน้า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักการเมือง จะเข้าใจประโยชน์ในข้อตกลงคุณธรรรมเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือ ความเข้าใจ จะทำให้บ้านเมืองรักษาทรัพยากร ประหยัดเงินงบประมาณได้

 

 

ดร.มานะ กล่าวว่า ถึงวันนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ขอให้เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารของหน่วยงาน นักการเมืองที่เกี่ยวข้อง เอกชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ลดราวาศอก เห็นประโยชน์ของบ้านเมืองบ้าง เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน เห็นแก่ความสบายของประชาชนบ้าง ทำอะไรให้มันตรงไปตรงมา งานมันจะรวดเร็ว และเกิดความซื่อสัตย์ บริสุทธิ์ขึ้นได้ในบ้านเมือง

ดร.มานะ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดเวลาเราเห็นโครงการเมกะโปรเจคท์ของภาครัฐ พอจะเริ่มโครงการแล้วมีการถกเถียงกันเรื่องความโปร่งใส เรื่องทำงานแบบไม่ตรงไปตรงมา ทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ มันคือความเสื่อมเสียของราชการ คือความเสื่อมเสียของรัฐบาลโดยรวม สิ่งเหล่านี้ จะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจกัน แน่นอนว่า จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ด้วย เพราะการที่เราลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม เราต้องการเห็นระบบขนส่งขนาดใหญ่ที่บริการประชาชน การที่ช่วงนี้รัฐบาลเร่งลงทุนในหลายๆ สาย พร้อมกัน เพื่อให้มันมีการบริการครบวงจรอย่างรวดเร็ว เม็ดเงินคือการกระตุ้นการลงทุน การส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่สิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่ทำมันก็ไม่เกิด ประโยชน์ของประชาชนก็ไม่ได้ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองก็ไม่ได้ ความผิดอยู่ที่ผู้นำของหน่วยงาน ความผิดอยู่ที่คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ขอให้ทุกคนรับผิดชอบและเห็นหัวประชาชนบ้าง

 

สุดท้ายโครงการนี้จะเป็นอย่างไร ดร.มานะ กล่าวว่า วันนี้เมื่อมีข้อครหากันอยู่ เรื่องผลประโยชน์ของรัฐจะสูญเสีย จะเสียหายไปหลายหมื่นล้านบาท น่าแปลกใจ ทำให้ผู้นำในรัฐบาลไม่สั่งให้มีการตรวจสอบ ถ้ารัฐบาลเข้ามาตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบไม่พบอะไร จะเป็นการสร้างเครดิตให้กับรฟม. และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบราชการ ในการบริการ ในการทำงานของรัฐ ของรัฐบาล แต่ถ้าพบการทุจริตแม้แต่น้อย นั่นคือการปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน

ดร.มานะ กล่าวย้ำว่า “อย่าปล่อยคาราคาซัง อย่าลอยตัว ช่วยกันเข้ามาดู ช่วยกันรับผิดชอบ “ โดยสุดท้ายเรื่องนี้ต้องจบอยู่แล้วเพียงแต่เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง จบให้เร็ว จบให้สวย จบให้สง่างาม ให้มีความชัดเจน และจบบนพื้นฐานของประโยชน์ของบ้านเมือง ผลประโยชน์ของประชาชน ใครถูกใครผิด ว่ากัน

 

สุดท้าย ดร.มานะ ได้ฝากถึงหน่วยงานภาครัฐ ว่า ถ้าต้องการความเชื่อมั่นจากประชาชน ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วประชาชนจะตัดสินใจเอง ถ้ามีปัญหา ต้องทำการตรวจสอบคนที่มีตำแหน่ง มีอำนาจ ทำการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น เช่น ถ้ามีปัญหาในงานประมูลของรฟม. คนที่เป็นรัฐมนตรีคมนาคม หรือนายกรัฐมนตรี ก็ทำการตรวจสอบไป อันนี้ มันก็จะสร้างเครดิตให้กับหน่วยงานนั้นด้วยซ้ำไป ถ้าตรวจสอบมาแล้วมันถูกต้องจริง รออะไร ปฏิเสธอะไร

อย่างกรณีของรถไฟฟ้าสายสีส้ม กระทรวงคมนาคม รฟม. คณะกรรมการตามมาตรา 36 ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน สำนักงบประมาณ สำนักอัยการ ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน ใครเปิดเผยอะไรได้บ้าง และเมื่อถึงเวลา ถ้ามีความผิด คนพวกนี้จะต้องโดนลงโทษ ย้อนหลังด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

DSI สอบปากคำ ‘บอสพอล’ ปมคลิปเสียง ‘กฤษอนงค์’ พาดพิงหน่วยงาน อ้างจ่าย 10 ล้าน
คุมตัวผู้ต้องหาทำแผน คดีฆ่าตัดนิ้วนางทั้งสองข้างแม่ยายอัยการ
“อนุทิน” ไม่ไปช่วยหาเสียง "นายกอบจ.สุรินทร์" ชี้ขอวางตัวเป็นกลาง
นรข.สร้างผลงานเด่น จับยาบ้าริมโขง
ไลออนส์พัทยา สัตหีบ นำมัคคุเทศน์น้อย รร.มารีวิทย์ รับคณะไลออนส์สากล เยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ ในโอกาสประชุมโอซีล ครั้งที่ 61 ของไลออนส์สากลทั่วโลก
กรมปศุสัตว์ จับมือหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เร่งกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ
"นอร์ทกรุงเทพโพล" เผยปชช.ยอมรับการแก้ไขปัญหาศก.รัฐบาล “แพทองธาร” มีแนวโน้มดีขึ้น 58.7%
“ภูมิธรรม” ชี้ “ทักษิณ” ปราศรัยเวทีอบจ.อุดรธานี ผิดถูกว่าตามกม.
"สัณหพจน์" เอาจริงลุยตรวจพื้นที่ภูเขาขยะทุ่งท่าลาด จี้หาคนรับผิดชอบ
นายกฯ ถึงไทยแล้ว ดีใจโผกอดลูกชาย-ลูกสาวที่มารอรับ ขณะ‘ผบ.ตร.’ เข้าพบรายงาน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น