วันที่ 19 ธ.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการ “ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้” ภายใต้นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ทุกส่วนราชการ สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน ร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างจริงจังนั้น ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2565 เหลือ 88.2% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 89.1% และไตรมาส 4 ปี 2564 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90%
โดยหนี้ครัวเรือน 4 อันดับแรกยังคงเป็น 1.เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของหนี้ครัวเรือนรวม 2.เงินกู้เพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลสัดส่วนร้อยละ 28.0 ของหนี้ครัวเรือนรวม 3.เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 18.2 ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 4.เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนรวม
นายธนกร กล่าวต่อว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จากรายปีเป็นรายเดือน ชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงตัดดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้น 2.การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น 3.การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครู ยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ของครูในอนาคต เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5