วันนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง โควิด 19 ระยะฟักตัวสั้นลง ติดง่ายขึ้น ความรุนแรงของโรคลดลง
“หมอยง” ชี้โควิด ระยะฟักตัวสั้นลง ติดง่าย แต่ความรุนแรงลด
ข่าวที่น่าสนใจ
โดย ศ.นพ.ยง ระบุว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ระยะฟักตัวของโรคในระยะแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 วัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ระยะฟักตัวสั้นลงมาโดยตลอด จนมาถึงสายพันธุ์ปัจจุบัน โอมิครอน มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 3 วัน นับจากวันสัมผัสโรคจนถึงมีอาการ
เมื่อระยะฟักตัวสั้นลงทำให้ระบบภูมิต้านทานที่มีอยู่ เตรียมพร้อมไว้ที่จะกระตุ้นรับการจู่โจมเข้ามา ในการระดมออกมาต่อสู้ป้องกัน ทำไม่ทัน จึงทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้น ในบางครั้งถึงแม้จะมีระดับภูมิต้านทานเกิดขึ้นสูงแล้ว ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ระดับภูมิต้านทานที่มีอยู่ ยังพอช่วยในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของตัวไวรัสได้ในระยะเวลาต่อมา จึงเป็นเหตุให้ความรุนแรงของโรคลดลง
ในภาพรวมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย มากกว่า 90% มีภูมิต้านทานต่อโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นจากการฉีดวัคซีน หรือโดยการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ติดเชื้อแล้ว มากกว่า 70 % ทำให้ได้รับเชื้อแล้วถึงแม้ว่าจะติดโรคได้ อาการจะน้อยลง และในอนาคตภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และขยับเข้าตรงสายพันธุ์มากขึ้นจากการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ความรุนแรงของโรคก็จะลดลงตามลำดับ และในที่สุดเราก็คงต้องอยู่กับไวรัสตัวนี้ตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง