สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ม.ค.66 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน ) หรือ DTAC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานความคืบหน้าที่สำคัญของการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1.มติกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของ TRUE และ ผู้ถือหุ้นของ DTAC ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แบบออนไลน์ เพื่อพิจารณาเรื่อง ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ รวมถึงเตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม พิจารณาและอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ คือ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหลักทรัพย์ “TRUE” ทุนจดทะเบียน 1.38 แสนล้านบาท (พาร์ 4 บาท)
2.กําหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นในวันที่ 22 ก.พ. 66 เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ (จะมีจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ TRUE และ DTAC ในอัตรา 1 หุ้นเดิมใน TRUE : 0.60018 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC : 6.13444 หุ้นในบริษัทใหม่) โดยผู้ที่มีสิทธิจะได้รับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ต้องเป็นผู้มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของ TRUE และ/หรือ DTAC ณ วันที่ 22 ก.พ. 66 เท่านั้น
3. ขอหยุดพักการซื้อขายหุ้นเป็นเวลา 9 วันทําการ (20 ก.พ. 2566 ถึง 2 มี.ค. 2566) เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ ตลอดจนดําเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการนําบริษัทใหม่เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ขณะที่จากการตรวจสอบของ TOP NEWS ต่อมุมมองนักวิเคราะหลักทรัพย์ เห็นว่าการเดินหน้าควบรวมธุรกิจของ 2 บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ถือเป็นผลดีต่อภาคการลงทุนและการพัฒนาองค์กรธุรกิจ พร้อมมองข้อดีของชื่อบริษัทใหม่ ซึ่งใช้ชื่อเดิม เป็นชื่อที่ผู้บริโภคคุ้นเคย
โดยนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นในการตั้งชื่อบริษัทใหม่หลังควบบริษัทเป็น “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” และใช้ชื่อย่อ “TRUE” ว่า การเป็น New Co ที่ใช้ชื่อเดิม ข้อดีก็คือ ไม่ได้เป็นการออกแบรนด์ใหม่ ทำให้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เพราะแบรนด์ TRUE อยู่กับเรามา 10 กว่าปี เป็นแบรนด์ที่ทุกคนคุ้นเคย ไม่ต้องเสียเวลา อีกทั้ง TRUE มีหลายบริการ หลายสินค้า ฉะนั้น หากต้องออกแบรนด์ใหม่ ก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเปลี่ยนแปลง ในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน แต่ขณะเดียวกัน ตอนนี้ทุกคนรู้จักทรูอยู่แล้ว ส่วนแบรนด์ DTAC ก็ต้องคงไว้ตามที่กสทช.บอก แต่จะทยอยเฟดออก ก็ไม่ได้ผิดกฎกสทช.แต่อย่างใด ในความเห็นของเรา