นายกฯ ชื่นชม กสศ. สร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา

นายกฯ ชื่นชม กสศ. สร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ช่วยเด็กยากจน 3.5 ล้านคนไม่ให้หลุดนอกระบบ กสศ. เตรียมเสนอ ครม. เคาะงบ 7.9 พันล้าน ลงทุนเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนสู้ค่าครองชีพ ตัดวงจรยากจนข้ามรุ่น

17 มกราคม 2566 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ผ่านนิทรรศการหลักประกันโอกาสทางการศึกษา 20 ปี ไร้รอยต่อ และการส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ผ่านโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค หรือ Equity Partnership’s School Network จาความร่วมมือนักเรียนทุนเสมอภาคกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ โดยมีนายพงศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือ น้องแดง เจ้าของจดหมายลาครูที่เคยโด่งดังในโซเชียล เพราะต้องลาโรงเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงาน เป็นตัวแทนนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง เข้าพบนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งปัจจุบันน้องแดงกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.5 และมีครูบอย นายนพรัตน์ เจริญผล จากอำเภอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ติดตามน้องแดง ให้กลับมาเรียน เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ร่วมด้วย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวทักทายและกอดน้องแดงหลังจากที่เคยพบกันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ว่าให้ตั้งใจเรียน พร้อมฝากครูบอยให้ดูแลเด็กนักเรียน พาเด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสให้กลับมาเรียนต่อ
นายกรัฐมนตรี ยังให้กำลังใจและชื่นชมผลงานนักเรียนภายใต้โครงการ Equity Partnership’s School Network ว่าเป็นต้นแบบสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมทักษะชีวิตระหว่างเรียน โดยได้ทดลองทำการพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติด้วยวิธีการทุบใบสักทองลงบนผ้า พร้อมสอบถามถึงการพัฒนาลวดลายอื่น ๆ และการดูแลคุณภาพด้วยความสนใจ

“โครงการนี้เป็นต้นแบบการสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านความร่วมมือจากสังคม รวมทั้งการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการใช้เทคโนโลยี โดยหวังว่าโครงการฯ จะช่วยพัฒนาทักษะของนักเรียนให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถขยายผลโครงการลักษณะนี้ได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดช่องว่างในสังคม เพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น โดยไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นความร่วมมือร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วนในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็ก ๆ”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเลือกซื้อผลงานนักเรียนในโครงการฯ ได้บนแพลตฟอร์ม Shopee โดยรายได้ทั้งหมดมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโครงการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อให้เด็ก ๆ นำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคต
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมถึงดูแลนักเรียนนักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาสผ่าน กสศ. ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 5 ปี สามารถสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา โดยป้องกันเด็กและเยาวชนกว่า 3.5 ล้านคน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา และมีระบบส่งต่อให้ศึกษาสูงกว่าภาคบังคับจนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ เพื่อขจัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบกว่า 40,000 คน ได้กลับเข้าสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีงานทำมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน
เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาและตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของโรคระบาดโควิด-19 พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มว่ามาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันต่าง ๆ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบภาวะยากจนเฉียบพลันของประชากรและรายได้ต่อครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ของปี 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม

“อย่างไรก็ตามการสำรวจของ กสศ. พบว่า สวัสดิการที่รัฐบาลสนับสนุนช่วยเหลือถึงมือครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างแท้จริงและเป็นแหล่งรายได้พึ่งพิงในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาถึงแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้ของผู้ปกครองร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน รองลงมาร้อยละ 53.9 คือเงินเดือนหรือค่าจ้าง และรายได้จากการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 42.4 ตามลำดับ” ผู้จัดการ กสศ. ระบุ

ดร.ไกรยส กล่าวว่า เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลผ่านการทำงานของ กสศ. ความก้าวหน้าสำคัญที่ผ่านมาตั้งแต่ในปีการศึกษา 2561 มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานฯ จาก สพฐ. รวม 148,021 คน โดยปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 จำนวน 62,042 คน และ กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2565 พบว่ามีเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากการคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. เมื่อปีการศึกษา 2561 ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง

“สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินว่าหากเด็กนักเรียนทั้ง 20,018 คน สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 ล้านบาทต่อคน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขถ้าพวกเขาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย การศึกษาที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของทางออกจากกับดักความยากจน”

ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า หากคำนวณเพียงต้นทุนที่ต้องสนับสนุนให้เด็ก ๆ สามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในภาพรวม อยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาทต่อคน ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 เท่า หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนแบบ IRR อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า และยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐประมาณร้อยละ 2.7

ทั้งนี้จากภาพรวมของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความคุ้มค่าในการลงทุนที่ตอบโจทย์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณจำนวน 7,985786,100 บาท เพื่อลดผลกระทบทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสศ. ได้เตรียมแผนเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพประชาชนและอัตราเงินเฟ้อต่อไป

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"นครราชสีมา" เสี่ยงภัยแล้ง 10 อำเภอ ชลประทานประกาศงดทำนาปรังทั้งจังหวัด
"อัจฉริยะ" แจงผลสอบ "อาหารเสริม Eighteen 18" พบมีเลข อย.ถูกต้อง
"อดีตบิ๊กข่าวกรอง" ชี้เจรจา MOU 44 ถามคนไทยหรือยัง เอาพลังงานหรืออธิปไตย
สุดเศร้า "นักเรียน ม.4" เรียนวิชาพละ  วิ่งได้ 200 เมตร หัวใจวายเสียชีวิต
"ณัฐวุฒิ" โอ่คนไทยอ่านขาดแล้ว เกมฝ่ายขวาจัด ปลุกชาตินิยม ล้มรบ. เย้ยรอบนี้ไม่ง่ายเหมือนก่อน
เปิด 40 รายชื่อ สรุปยอดผู้สมัคร ป.ป.ช. พบคนดังเพียบ
"ยายวัย 80 ปี" เครียดอยากจบชีวิต หลังถูก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกโอนเงินเก็บเกลี้ยงบัญชี
"ร้านเนื้อย่างดัง" โพสต์ตามหา "ลูกค้า" โอนเงินค่าอาหารเกิน 2 แสนบาท
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 10 เตือน ปชช.ไทยตอนบนอากาศแปรปรวน ภาคใต้ฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน
ระทึก ! บุกยิงบ้านผู้ใหญ่ โบว์ คาดว่า การเมือง ท้องถิ่นเป็นเหตุ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น