เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา “รวยแล้วทำผิด !! ไม่ติดคุก??” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พล.ต.ต.ดร.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ดร.อภิชัย ศรีโสภิต อดีตรองผู้บัญชาการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ นายพันธุ์พิสุทธิ์ นุราช นักการเมืองรุ่นใหม่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเปิดงานเสวนาโดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า หากพูดอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นได้ว่าคนรวยทำผิดบางคนก็ติดคุก นักการเมืองจำนวนไม่น้อยก็ยังติดคุก แต่การตั้งคำถามว่าทำไมคนรวยทำผิดไม่ติดคุก เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกรณีซึ่งเป็นคนรวย มีฐานะทางเศรษฐกิจกระทำความผิดแต่มีการช่วยเหลือ ซึ่งหลายคดียังเป็นข้อกังขาของคนในสังคม เช่นกรณีทุนจีนสี เทาทำให้สังคมไทยฉุกคิดว่าคนรวยสามารถกระทำความผิดและรอดได้เพราะมีช่องทางการช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้มีกระบวนการพูดคุย หาทางออกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
พล.ต.ต.ดร.วิชัย กล่าวว่า ทุกสถาบันผลิตบุคลากรให้เป็นคนดีช่วยเหลือชาติบ้านเมือง องค์กรตำรวจก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเข้าสู่การทำงานจริงต้องพบเจอปัจจัยภายนอก 3 ประการทำให้ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ คือ 1.สายบังคับบัญชา 2.สังคมที่เปลี่ยนไป 3.โซเชียลมีเดียที่จับจ้องตำรวจ หลายคดีที่ผ่านมาตำรวจตกเป็นเป้า ประชาชนตรวจสอบกระบวนการทำงานของตำรวจมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าผู้กระทำผิดเป็นคนรวย จะยิ่งถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น เช่นกรณีเสี่ยเบ๊นท์ลีย์ ที่ทำให้สังคมมองว่ากระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว เนื่องจากคนรวยมีทนายความ มีเงินไปต่อสู้ รัฐเอื้อประโยชน์ ในขณะที่คนจนไม่มี
“ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐต้องยึดหลักความถูกต้อง ประชาชนก็จะไม่เสื่อมศรัทธา และต่อว่าไม่ได้ กระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดบิดเบี้ยว กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เกิด ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง บ้านเมืองสงบต้องจบด้วยกระบวนการยุติธรรม” พล.ต.ต.ดร.วิชัย กล่าว
พล.ต.ต.ดร.วิชัย กล่าวด้วยว่า อยากให้ประชนร่วมกันเป็นหูเป็นตาตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ที่บิดเบี้ยว หากทุกคนช่วยกันตรวจสอบ ก็จะทำให้สังคมเข้มแข็ง ลดการทุจริต พร้อมทั้งเสนอให้องค์กรตำรวจเป็นอิสระจากนักการเมือง เนื่องจากการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงทำให้การทำหน้าที่ไม่เป็นอิสระ และบางครั้งต้องตอบสนองนักการเมืองบางกลุ่มบางพวก ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และการใช้อำนาจหน้าที่ที่ต้องโดนแทรกแซง เนื่องจากตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน จึงถูกตรวจสอบมากเป็นธรรมดาโดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีอิทธิพลมาก สมัยนี้การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ต้องมาจากคณะกรรมการ กตร.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงทำให้การแต่งตั้งมีโอกาสถูกแทรกแซง ผบ.ตร.ถูกลดบทบาทอำนาจหน้าที่ไปโดยปริยาย ดังนั้นหากตำรวจเป็นองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมืองก็จะสามารถคานอำนาจต่างๆ ได้