1 ก.พ 66 ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และน.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) 2 ผู้ต้องขังทางการเมือง ที่กำลังอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา112 และการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ว่า สภาได้ทำหน้าที่เป็นทางออก สนองตอบปัญหาสังคมเข้ามาในสภา แต่ไม่อยากเห็นว่าการพูดจาเป็นเพียงพิธีกรรมให้กลุ่มผู้เรียกร้องสบายใจ แต่อยากเห็นการพูดจากันในวันนี้เกิดผลในทางปฏิบัติ และแก้ปัญหาได้จริง เช่นนั้นแล้วสภาจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ สภาจะเป็นที่พึ่งไม่ได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ไม่ใช่ปัญหาโลกแตกที่ทุกคนแก้ไม่ได้ ชีวิตเด็ก 2 คนไม่มีอะไรเป็นทางตันให้เด็กต้องเสียชีวิต และคิดว่าสภาแห่งนี้ไม่ควรที่จะไปเอาอกเอาใจใคร ไม่ใช่สภาที่ต้องขาดวุฒิภาวะ แต่กรณีที่เกิดขึ้นฟังเพื่อนสมาชิกพูดทั้งสภา เชื่อเห็นตรงกันว่าเป็นกรณีที่มีเหตุมีผล เขาอดข้าวประท้วง ไม่ใช่เป็นอาการที่ขาดเป้าหมาย และเป้าหมายที่เรียกร้อง 3 ข้อ กลับเป็นประโยชน์เป็นสิ่งที่ตนคิดว่าสังคมแม้ไม่ได้ออกมาเรียกร้องเช่นแบม-ตะวัน ก็ตรงใจสังคมไม่น้อย คือ
1. การเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตนคิดว่าเสียงนี้ความอึดอัดนี้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว การจัดอันดับนานาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเสื่อมทรุดลงตลอด
2. การจับคุมขังหรือให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง สอดคล้องต้องกันกับหลักสากลอย่างยิ่งความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันไม่ใช่ความผิด การดำเนินหรือขับเคลื่อนความคิดที่แตกต่างกันทางการเมืองไม่ใช่ความผิด นี่คือหลักสากล อย่าเพิ่งไปลงโทษการจับกุมคุมขังระหว่างดำเนินคดี ต้องคิดว่าไม่ให้เขาหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับคดี ให้เอาเท่าที่ควรและจำเป็น
3. เรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 116,112 คิดว่าเรื่องนี้เรายิ่งต้องมีเหตุผล อะไรทำได้ เราก็บอกว่าทำได้ อะไรที่ทำได้แต่ยังไม่ใช่เวลา ต้องใช้วิธีการทำความเข้าใจกับคนในชาติ