วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “สมชาย แสวงการ” มีเนื้อหาดังนี้#เครื่องมือตบทรัพย์นักท่องเที่ยว #ทำลายการท่องเที่ยวไทย #ควันอะไรเข้าตาตำรวจและศุลกากร ตำรวจ และศุลกากร เป็นอุปสรรคต่อการป้องกัน และปราบปราม บุหรี่ไฟฟ้า จริงๆ หรือเพราะว่า
1) ตำรวจท้องที่ละเลย ปล่อยให้จ่ายส่วยขายส่งบุหรี่ไฟฟ้าที่พบเห็นเกลื่อนเมืองแถว ย่านคลองถม จตุจักร และวางขายปลีกตามสถานที่ท่องเที่ยว
พบเห็นได้ทั่วไป อาทิ ย่านห้วยขวาง พัฒน์พงศ์ ปากซอยนานา ถนนสุขุมวิท ซอยทองหล่อ ถนนข้าวสาร เยาวราช พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ ด้วยโทษจำคุกและปรับที่รุนแรงเพราะพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าได้กลายเป็นช่องทางสบโอกาสให้ตำรวจนอกแถวใช้เป็นช่องทางเรียกรับเงินและรีดตบทรัพย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นกรณีดาราสาวไต้หวัน จนเสียหายมากกับชื่อเสียงของประเทศไทย
2) ด่านศุลกากร ปล่อยให้มีการนำเข้าประเทศกันแบบมโหฬารเพราะการข่าวหน่วยปราบปรามด้านคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า ปล่อยให้นำเข้า มาครั้งละหลายตู้คอนเทนเนอร์ พ่อค้ายอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ทุจริตเพื่อนำผ่านด่านศุลกากร ทั้งผ่านท่าเรือกรุงเทพและด่านชายแดน โดยไม่ต้องตรวจสอบจับกุม
ดังนั้น การจับผู้ค้ารายย่อยหรือผู้พกพา หรือการร้องเรียน สคบ. จึงเป็นแค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และแทบไม่มีทางสำเร็จ
การจัดการที่ถูกต้องคือต้องจัดการที่ต้นทางของปัญหา บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดในการห้ามนำเข้าประเทศทุกช่องทาง รวมถึงการต้องปิดเว็บไซด์และจับผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์
ตำรวจไซเบอร์ และตร.ปคบ. นั้นมีอำนาจตามกฎหมายและมีเครื่องมือ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในการร่วมกันสกัดกั้นและจับกุมให้เต็มประสิทธิภาพ จึงจะจัดการได้สำเร็จครับ
สมชาย แสวงการ
สมาชิกวุฒิสภา
ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
2 ก.พ.2566
@อ้างอิงข่าว
จากกรณีข่าวตำรวจรีดไถเงิน “อันหยู๋ชิง” ดาราสาวไต้หวัน ช่วงที่เธอเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงต้นเดือน ม.ค. 66 ด้วยข้ออ้างว่า เธอพกบุหรี่ไฟฟ้าแต่กลับกลายเป็นการเรียกรับเงินจำนวน 27,000 บาท แต่ไม่ได้ออกใบสั่งปรับข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าแต่อย่างใด ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าการถือครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายหรือไม่