เช็คลิสต์ "สัตว์น้ำเอเลี่ยน" เอเลี่ยนสปีชีส์ สัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด กรมประมงประกาศชัด ห้ามนำเข้า-เพาะเลี้ยง หวั่นทำลายระบบนิเวศ
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมประมง ออกประกาศคุมเข้มสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ขึ้นบัญชีเพิ่มอีก 13 ชนิด หวังตัดวงจรการแพร่พันธุ์และคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่น พร้อมป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้เป็นตัวการที่ทำให้สัตว์และพืชท้องถิ่นสูญพันธุ์ หนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดทางสิ่งแวดล้อมของโลก
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกรณีปลาหมอสีคางดำที่หลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก จึงออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงพ.ศ.2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิด ได้แก่
- ปลาหมอสีคางดำ
- ปลาหมอมายัน
- ปลาหมอบัตเตอร์
กรมประมงได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานของ “สัตว์น้ำเอเลี่ยน” ในชนิดพันธุ์อื่น ๆ และได้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเพาะเลี้ยงในประเทศ การรุกราน ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบการประกอบกับการพิจารณาสัตว์น้ำในทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกันควบคุมและกำจัดของประเทศไทย
โดยพิจารณาควบคู่กับทะเบียนชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน 100 อันดับโลก จึงเห็นควรที่จะเพิ่มชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ขึ้นบัญชีห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงได้เพิ่มชนิดพันธุ์ต่างถิ่นขึ้นบัญชีอีกจำนวน 13 ชนิด ดังนี้
1. ปลาหมอสีคางดำ Blackchin tilapia
- Sarotherodon melanotheron
2. ปลาหมอมายัน Mayan cichlid
- Mayaheros urophthalmus
3. ปลาหมอบัตเตอร์ Zebra cichlid
- Heterotilapia buttikoferi
4. ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
- Peacock cichlid
- Butterfly peacock bass
- Cichla spp
5. ปลาเทราท์สายรุ้ง Rainbow trout
- Oncorhynchus mykiss
6. ปลาเทราท์สีน้ำตาล Sea trout
- Salmo trutta
7. ปลากะพงปากกว้าง Largemouth black bass
- Micropterus salmoides
8. ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
- Goliath tigerfish
- Giant tigerfish Hydrocynus goliath
9. ปลาเก๋าหยก Jade perch Scortum barcoo
10. ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO
ชนิดสัตว์น้ำอื่น ๆ
11. ปูขนจีน Chinese mitten crab Eriocheir sinensis
12. หอยมุกน้ำจืด Triangle shell mussel
- Hyriopsis cumingii
13. หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena
- Blue-ri nged octopus Hapalochlaena spp.
กรณีที่เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกลุ่มเหล่านี้ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตตามประกาศกรมประมง ภายใน 30 วันหลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้และเมื่อไม่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่นกลุ่มดังกล่าวแล้วให้รีบนำสัตว์น้ำส่งมอบให้สำนักงานประมงจังหวัด หรือ หน่วยงานกรมประมงอื่น ๆในพื้นที่โดยด่วน
กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้สัตว์น้ำตายก่อนนำไปจำหน่าย
แนวทางปฏิบัติสำคัญที่ต้องรู้
1. กรณีที่สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้จากธรรมชาติได้หลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนาเกษตรกร
- สามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
2. กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการ
- ให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงก่อน
3. ห้ามผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิด ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด
- เนื่องจาก มีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558
บทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสอง
- ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
- ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สัตว์น้ำทั้ง 13 สายพันธุ์นี้ ถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดปัญหา “สัตว์น้ำเอเลี่ยน” สัตว์น้ำต่างถิ่นที่หลุดรอดเข้ามาแพร่พันธุ์และสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) และไม่ต้องการที่จะเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำเหล่านั้นมามอบให้กับทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน ให้รับไปดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นเกิดการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศในระยะยาว
ข้อมูล : กรมประมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง