อ.เขาสมิง จ.ตราด/เวลา 09.00 น.วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศาลาเอนกประสงค์อบต.วังตะเคียน อ.เขาสมิง จ.ตราด นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจ.ตราดเป็นประธานเปิดการสัมมนาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาผลไม้ภาคตะวันออกให้เข้มแข็งและยั้งยืน”ที่คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร โดยนายศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด และรองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้จัดขึ้น มีเกษตรจังหวัดตราด พาณิชย์จ.ตราด และเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเขาสมิง และใกล้เคียงร่วมจำนวนกว่า 200 คน
นายศักดินัย กล่าวว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าการเกษตรที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก ในแต่ละปีเรามีผลผลิตมากมายหลายประเภท ซึ่งมิได้มุ่งเพื่อการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งออกไปยังต่างประเทศ และเมื่อผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งออกไปยังต่าง ประเทศหรือประเทศปลายทางมิได้มาจากประเทศไทยเพียงอย่างเดียว การแข่งขัน การช่วงชิงตลาดระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความชำนาญที่เข้มแข็งทุกภาคส่วน อย่างเป็นองค์รวมและเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันการส่งออกผลไม้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตในแต่ละปีที่มีมูลค่ามหาศาล อีกทั้งในปัจจุบันนี้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจำนวนกว่าแสนไร่ในภาคตะวันออก ด้วยเป็นพืชแห่งความหวังทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เพราะนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังสร้างงาน สร้างเงินตราหมุนเวียนภายในประเทศ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดในภาคตะวันออก คือ ระยอง จันทบุรี ตราด
“ผมมองว่า คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎรได้มองเห็นถึงความสำคัญของผลไม้ในภาคตะวันออกที่จะมีผลต่อชะตาชีวิต และพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเกษตรกร จึงเป็นบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องตระหนักและตื่นตัวเพื่อความพร้อมสำหรับการแข่งขันในเวที ผลไม้ในระดับโลก ด้วยเหตุดังกล่าว กรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์สภาผู้แทนราษฎรจึงเห็นควรจัดการสัมมนา เตรียมความพร้อม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงาน ทั้งจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างแท้จริง”
นายชำนาญวิทย์ กล่าวว่า วันนี้ผลผลิตทางการเกษตรกรรมโดยเฉพาะทุเรียนที่มีพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว แต่เกษตรกรของจังหวัดตราดยังเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่การปลูกไม่เกิน 30 ไร่ ทำให้อำนาจการต่อรองน้อย และการทำผลไม้ที่มีคุณภาพมักจะนิยมในเรื่องการใช้สารเคมีเป็นหลัก เพราะราคาดี ผลไม้สวย แต่ในอนาคตการผลิตผลไม้ด้วยสารเคมีจะเป็นเร้่องที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์เพราะผู้บริโภคและผู้ค้าขายจะสนใจในเรื่องผลไม้ที่ไม่มีสารเคมี และเป็นผลไม้อินทรีย์ ซึ่งจังหวัดตราดได้เน้นในเรื่องการทำสวนคุณภาพคุณธรรม เพื่อให้ได้ราคาสูงกว่าผลไม้ที่ใช้สารเคมี วันนี้ต้องทำผลไม้คุณภาพจะสามารถขายไปในต่างประเทศที่ได้ราคาสูงได้ ซึ่งนั่นเป็นทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรของจังหวัดตราด
“สำหรับผลไม้ในภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดตราดถือเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพและรสชาติดีออกจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การมีมาตรการสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับก่อนผลผลิตจะออกจำหน่ายสู่ตลาดทั้งมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนและอื่น่ๆ แม้จะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหลาย ปีที่ผ่านมาจากความร่วมมือของภาคส่วนราชการ เอกชน และเกษตรกร รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ อย่างแข็งขัน แต่ความพยายามก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง ตนเองในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ถือโอกาส นี้ขอชื่นชมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว” ผู้ว่าราชการจ.ตราดกล่าว
ทั้งนี้ ผลผลิตผลไม้ของจังหวัดตราด 3 ชนิดคือ ทุเรียน 80,251 ตัน มังคุด 43,000 ตัน และเงาะ 100,000 ตัน ซึ่งราคาทุเรียนประเภท กระดุม ราคา 320 บาท/กก. ชะนี 200 บาท/กก.และหมอนทอง ราคาใกล้ 200 บาท/ ซึ่งทุเรียนจังหวัดตราดจะออกก่อนจังหวัดอื่นๆ โดยในราววันที่ 26-28 กัมภาพันธ์ 2566 ทุเรียนรุ่นแรกในพื้นที่ต.อ่าวใหญ่ อ.เมือง จ.ตราด จะออกสู่ตลาด
ภาพ/ข่าว จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ ผู้สื่อข่าว ประจำ จ.ตราด