“กสทช.-สนง.สลากฯ” ชี้ชัดสื่อทีวี วิทยุ ต้องหยุดโฆษณากองสลากพลัส

"กสทช.-สนง.สลากฯ" ชี้ชัดสื่อทีวี วิทยุ ต้องหยุดโฆษณากองสลากพลัส

วันที่ 9 ก.พ. 66 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เชิญผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สมาพันธ์ สมาคมวิชาชีพสื่อวิทยุโทรทัศน์ เข้าร่วมประชุม เพื่อทำความเข้าใจการนำเสนอเนื้อหารายการ และโฆษณา เกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากออนไลน์ และลอตเตอรี่ออนไลน์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ประธานอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ กล่าวเปิดงาน และมีนายทวีป วุฒิบาทุกาจิตต์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มาบรรยายในหัวข้อ การนำเสนอเนื้อหารายการและการโฆษณาเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากออนไลน์ /ลอตเตอรี่ออนไลน์

 

 

ศาตราจารย์ ดร. พิรงรอง ระบุว่า สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือเวียนจากสำนักงานสลากกินเเบ่งรัฐบาล ใน เรื่อง การโฆษณาหรือการนำเสนอเนื้อหารายการเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากออนไลน์/ลอตเตอรี่ออนไลน์ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากสำนักงานสลากฯ มีหนังสือแจ้งมายังกสทช. ว่ามีผู้ประกอบการเอกชนทำการโฆษณาเชิญชวนเพื่อจูงใจให้ประชาชนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการพนันชนิดหนึ่ง จึงให้ทางสำนักงานสลากฯมาทำความเข้าใจให้ชัดเจนกับ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ด้านนายทวีป ได้อธิบายถึงความเป็นมาของสำนักงานสลากฯ รวมถึงการจำหน่ายสลากเกินราคา โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของเอกชน ที่มีการกว้านซื้อสลากมาแล้วบวกราคาเพิ่มและขายเกินราคา จากนั้นก็พยายามสร้างแบรนดิ้ง สร้างโลโก้เพื่อโฆษณาให้คนเข้ามาซื้อ พร้อมชี้ให้เห็นส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้น เมื่อมีการนำสลากไปขายเกินราคา 80 บาทที่สำนักงานสลากฯ ได้กำหนดไว้

 

รวมถึง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ให้สำนักงานสลากฯ สามารถดำเนินกิจกรรมในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเกิดประโมน์สูงสุดต่อประชาชน โดยมิได้เป็นไปเพื่อจูงใจให้ซื้อ สลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งแม้สำนักงานสลากฯ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ไม่สามารถโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้ประชาชนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ และมาตรา 39/2 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติห้ามมิให้มีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

 

พร้อมระบุว่า การจำหน่ายสลากเกินราคาที่ 100 บาท ทำให้มีส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นถึง 20 บาทต่อใบ คิดเป็น 32 -37 % มากกว่า เซอร์วิสชาร์จ ที่กรมการค้าภายในกำหนดไว้ที่ 10% ซึ่งอาจนำไปอยู่ในเรื่องของการฟอกเงินที่ไม่ต้องการกำไร

อีกทั้งในการจำหน่ายสลากฯ เกินราคาในแต่ละงวดจาก 80 บาทเป็น 100 บาท แต่ละงวดนั้นจะมีเงินที่ไม่เข้ารัฐถึง 4.8 หมื่นล้านบาท กระจายไปอยู่กับผู้ค้าสลากหรือเอกชน ทำให้เป็นจุดสนใจให้คนขายสลากเกินราคาอีกด้วย

ทั้งนี้ ในระหว่างช่วงตอบคำถาม หลายองค์กร และผู้รับใบอนุญาตได้มีการสอบถามไปยังสำนักงานสลากฯ และกสทช. ว่า ทางด้านผู้รับใบอนุญาต สามารถขึ้น โลโก้ หรือ เเบนเนอร์ รวมถึงลิงค์ ของกองสลากพลัสได้หรือไม่ ทางด้านของนายทวีป ได้อธิบายว่า กองสลากพลัส ไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายสลากของสำนักงานสลากฯ การขึ้นโลโก้ หรือ แบรนดิ้งอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนให้ประชาชนได้ว่า กองสลากพลัสเป็นหน่วยงานของสำนักงานสลากฯ ซึ่งที่ผ่านมา กองสลากพลัสก็ยอมรับและเสียค่าปรับว่า ตนเองขายสลากเกินราคา แต่ในส่วนผลประโยชน์ที่แพลตฟอร์มได้รับมีมากกว่าค่าปรับ จะเห็นได้จากยอดการขึ้นเงินรางวัลที่มาจากพลังโฆษณา จากเดิมที่มีการขึ้นเงินรางวัลในแต่ละงวดประมาณ 100,000 ใบ เป็น 200,000 ใบ ดังนั้น ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะจะเป็นการนำเข้าสู่การชักชวนให้เล่นพนัน

 

ส่วนกรณีที่กองสลากพลัสได้มีการนำเงินไปเป็นสปอนเซอร์สื่อต่างๆ รวมไปถึงฟุตบอลไทยลีก ซึ่งชี้แจงว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะคดียังไม่สิ้นสุดนั้น นายทวีปชี้แจงว่า แม้ว่า นอท จะไม่เป็นผู้ต้องหา แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้มีการกล่าวหา และตรวจสอบเส้นทางทางการเงินโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) ซึ่งไทยลีกรับเงินสปอนเซอร์มา ต้องขึ้นอยู่กับ ปปง. ว่า จะตรวจสอบเส้นทางการเงินเข้าไปถึงหรือไม่ และจะมีการเรียกเงินคืนหรือไม่

ขณะที่ทางกสทช .ระบุว่า การรับเงินสปอนเซอร์ในการประชาสัมพันธ์สามารถทำได้หรือไม่นั้น จะต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับปปง.และดีเอสไอ ในการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินที่เรียกเงินคืน

ทั้งนี้ ตัวแทนจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สมาพันธ์ สมาคมวิชาชีพสื่อวิทยุโทรทัศน์ ได้มีการสอบถามเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสื่อโฆษณา แบรนดิ้งต่างๆนั้น จะต้องดำเนินการถอดออกเลยหรือไม่ ซึ่งกสทช. ชี้แจงว่า ในมุมมองว่าการดำเนินการผิดเงื่อนไขเพราะขัดต่อกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการให้สปอนเซอร์ หรือการนำโลโก้ขึ้นก็ไม่สามารถดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับตัวแทนผู้รับใบอนุญาต ระบุว่า เมื่อทางกสทช. ชี้แจงมาเช่นนี้ก็จะต้องนำข้อมูลที่ได้ไปแจ้งผู้บริหารและทำการนำโฆษณา โลโก้ กองสลากพลัสออกจากสื่อทุกช่องทาง และต้องชี้แจงกับเจ้าของโฆษณาด้วยเช่นกัน ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ระบุว่า จะนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ให้สมาชิกรับทราบเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันหลังจากนี้ ทางกสทช.จะมีการทำหนังสือไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สมาพันธ์ สมาคมวิชาชีพสื่อวิทยุโทรทัศน์ อีกครั้ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เยอรมนีจ่อเปลี่ยนสถานีรถไฟใต้ดินเป็นที่หลบระเบิด
จีนเตือนไม่มีใครชนะในสงครามการค้า
อัยการนัดฟังคำสั่งคดี "เชน ธนา-ภรรยา" ถูกกล่าวหาฉ้อโกง 29 พ.ย.นี้
“ลุงป้อม” ปัดตอบปม “สิระ” อ้างคนในป่าต่อสายช่วย “สามารถ”
"ทนายพจน์" ยื่นหนังสือสำนักพุทธฯ จี้คณะสงฆ์แจ้ง "พระปีนเสา" สละสมณเพศ หลังถูกขับพ้นวัดวังกวาง
ตร.นำกำลังทลายแคมป์ "แรงงานต่างด้าวเถื่อน" นับร้อย ย่านหนองใหญ่-ชลบุรี เตรียมผลักดันออกนอกประเทศ
‘โฆษก ทบ.’ แจง ‘เจ้ากรมยุทธฯ’ ทำร้ายทหาร เหลือสอบพยาน 2-3 ราย ทำได้แค่ตักเตือน ส่วนคดีอาญา เจ้าทุกข์ต้องดำเนินการ
"อ.ปานเทพ"กางเอกสาร JC2544 อ้างไทย-กัมพูชา เคยรับรอง MOU 44 เป็นสนธิสัญญา
"ดร.ศิลปฯ" อดีตผู้สมัคร สส.เพื่อไทย รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนทวีธาภิเศก ปี 67 ปักธงสนับสนุนด้านกีฬากับเยาวชน
"แม่บ้าน" ส่อชวดรับมรดก 100 ล้าน หลัง "แหม่มฝรั่งเศส" ยกมรดก 100 ล้าน ให้ก่อนจบชีวิต

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น