สืบเนื่องจากการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษผ่านทวิตเตอร์ มีใจความว่า ตนขอยืนหยัดเคียงข้างชาวอิหร่านที่กำลังต่อสู้กับเผด็จการในบ้านเกิด เรากำลังต่อสู้ในสมรภูมิเดียวกันที่ประเทศไทย พร้อมกับเชิญชวนเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ โดยการเมนชันไปที่ทวิตเตอร์ freedomhouse
โดยเหตุดังกล่าวเริ่มต้นมาจากการเสียชีวิตของ น.ส.มาห์ซา อมินี วัย 22 ปี เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวไว้ในกรุงเตหะราน ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดกฎ ที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะปกคลุมผม ส่งผลทำให้มีผู้ชุมนุมเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อยาวนาน และมีการสลายการชุมนุม ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปแสดงความไม่เห็นด้วย และออกมาตรการคว่ำบาตร
กระทั่งต่อมาสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในประเทศไทย ได้ทวิตข้อความตอบกลับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศไทยที่ยาวนานกว่า 400 ปี แข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับผลกระทบจากเกมการเมืองและการเลือกตั้ง ด้วยความเคารพอย่างยิ่งต่อประชาชนในประเทศไทย เรามั่นใจว่าท่าทีทางการเมืองดังกล่าวไม่อาจมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีได้
ล่าสุด นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้แสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว ผ่านรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” โดยระบุใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ประท้วงในประเทศอิหร่าน จนก่อให้เกิดกระแสและแฮชแท็ก #IranSolidarity จน Freedom House ซึ่งเป็นองค์กรของ CIA หยิบยกขึ้นมาสร้างกระแส แท้จริงแล้ว คือองค์กรที่ก่อตั้งในปี 2484 (ค.ศ. 1941) หรือเมื่อ 81 ปีที่แล้ว โดยนายเวนเดล วิลกี (Vendel Vilki) อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน และ นางเอเลนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosvelt) ภรรยาของแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosvelt) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 32 ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2