ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง “5กสทช.” ลงมติไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง "5กสทช." ลงมติไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ซึ่งรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัท ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทดังกล่าว กับขอให้ศาลสั่งห้ามหรือระงับการกระทำและนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัท

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวทั้งฉบับ เนื่องจากไม่มีเหตุรับฟังได้ว่ามติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทของ กสทช. ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเป็นที่สุด และผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

 

ล่าสุด วันนี้(1 มี.ค.66) มีรายงานข่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคําพิพากษา ชั้นตรวจฟ้อง กรณีกสทช.มีมติรับทราบการรวมธุรกิจของ ทรู และ ดีแทค

 

ตามคดีหมายเลขดําที่ อท 199/2565 ระหว่าง นางสาวธนิกานต์ บํารุงศรี โจทก์ กับ ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จำเลย ที่ 1 นายต่อพงศ์ เสลานนท์ จำเลย ที่ 2 , พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ จำเลย ที่ 3 , ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต จำเลย ที่ 4 และ รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย จำเลย ที่ 5 เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ (ชั้นตรวจฟ้อง)

โดยคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องสรุปว่า โจทก์เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) AIS หมายเลข … จึงเป็นผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.

และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 จําเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งท่ี 5/2565 วาระ การพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค ผลการประชุมปรากฏว่า จําเลยทั้งห้า มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง ลงมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค โดยจําเลยทั้งห้าจัดให้มีการประชุมและลงมติ โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและ ประชาชนทั่วไป โดยไม่นํารายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟัง ความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จํากัด) เป็นการกระทําที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

 

 

รวมถึงจําเลยที่ 2 ไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัททรู จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ลงมติรับทราบเรื่องการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทคเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการมิชอบ

การที่จําเลยที่ 1 ในฐานะประธาน กสทช. เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกสทช.ใช้สิทธิลงมติ 2 คร้ังในการประชุมวาระการพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัทรูกับบริษัทดีแทค เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง

การที่จําเลยที่ 3 ใช้สิทธิลงมติ งดออกเสียงในการประชุมในวาระดังกล่าวเป็นการกระทํา ที่ฝ่าฝืนตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ

การออกมาตรการเฉพาะของจําเลยทั้งห้าที่กําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทค ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งห้าตามประมวลอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง พิจารณาแล้วมีคําวินิจฉัยดังนี้

1.) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 28 บัญญัติให้ กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือ คําสั่งเกี่ยวกับการกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไป แต่สําหรับกรณีการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและ บริษัทดีแทคเป็นการพิจารณาเพื่อมีมติหรือมีคําสั่งเกี่ยวข้องหรือผูกพันเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตเฉพาะราย คือ บริษัททรูและบริษัทดีแทคเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จําเลยทั้งห้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียหลักก่อน

ข่าวที่น่าสนใจ

2.) จําเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณา จึงไม่มีเหตุต้องห้ามมิให้พิจารณา เรื่องทางปกครอง ไม่ปรากฏว่ากลุ่มบริษัททรู มีพฤติการณ์แทรกแซงการทํางานของจําเลยที่ 2 จนขาดอิสระในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. จําเลยที่ 2 จึงสามารถเข้าร่วมประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคได้

3) การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค ไม่ใช่เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น เกินกว่าร้อยละ 50 ของจํานวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น แต่เป็นการรวมธุรกิจ ที่บริษัทจํากัด (มหาชน) 2 บริษัทขึ้นไปควบรวมกันแล้วนําไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจํากัด (มหาชน) ขึ้นใหม่ โดยบริษัททรูและบริษัทดีแทค สิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเดิม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่น ความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22 ไม่ได้บัญญัติให้อํานาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต รวมธุรกิจของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด เพียงแต่ให้อํานาจ กสทช. เฉพาะในเรื่องการกําหนดมาตรการ การป้องกันการกระทําอันเป็นการผูกขาดเท่านั้น

และที่ผ่านมา กสทช. เคยพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด 9 กรณี และ 9 กรณีดังกล่าว ได้มีการลงมติ เพียงรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตท้ังสิ้น ไม่มีกรณีใดที่ กสทช. มีมติอนุญาตหรือ ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด

จําเลยที่ 1 และที่ 2 ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทคจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

4.) การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค กรณีจึงต้องบังคับตามข้อ 41 วรรคสาม ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2555 โดยจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมการ กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทําให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กสทช.มีเสียงของผู้เห็นด้วยว่าการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการ ประเภทเดียวกัน การลงมติของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทําที่ถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

5.) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กําหนดให้การประชุม การลงมติและการปฏิบัติงานของ กสทช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กสทช. กําหนด ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ มิได้มีข้อกําหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องออกเสียง ทุกครั้งทุกคราวที่มีการประชุม และมิได้มีข้อกําหนดเกี่ยวกับการงดออกเสียงไว้ การที่จําเลยที่ 3 งดออกเสียงในการประชุมพิจารณาการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่น จึงไม่มีเหตุแห่งการที่จะพิจารณาว่าจําเลยที่ 3 กระทําการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

 

6.) มาตรการเฉพาะที่จําเลยทั้งห้ากําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู กับบริษัทดีแทค ได้พิจารณาข้อกังวลในหลายประเด็น ได้แก่ อัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ การเข้าสู่ตลาดและประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย คุณภาพ การให้บริการ การถือครองคลื่นความถี่ การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ําทางดิจิตอลเป็นการกระทําที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (มาตรา 77 ) วรรคสาม ทั้งยังเป็นการปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรขึ้นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสํานวน ฟังไม่ได้ว่า จําเลยทั้งห้ากระทําผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องดําเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป จึงพิพากษายกฟ้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

หนุ่มค้างค่าเช่าหลักหมื่น ทิ้งขยะกองโตท่วมห้องไว้ให้เจ้าของหอดูต่างหน้า
"ศาลอุทธรณ์" ยืนโทษคุก 8 เดือน "สมบัติ ทองย้อย" อดีตการ์ดเสื้อแดง โพสต์หมิ่น "พล.อ.ประยุทธ์" 2 ข้อความ
สพฐ. ชูศึกษานิเทศก์ทั้งประเทศ กลไกขับเคลื่อน "เรียนดี มีความสุข" สร้างคุณภาพสู่ห้องเรียน
“เต้ อาชีวะ” เดือด! จัดหนัก UN ปล่อยต่างด้าวล้นรพ.รัฐ แย่งคิวคนไทย
ปัตตานีระทึก คนร้ายชักปืน จี้ "พนง.ร้านสะดวกซื้อ" ชิงเงินสด 1.2 ล้าน หนีลอยนวล
เตรียมพบเทศกาลนานาชาติ พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 "จันทบุรีนครอัญมณี" ปีที่ 5 ชูเอกลักษณ์เมืองจันท์ อัญมณีอันเลื่องชื่อ
“สมศักดิ์” นำร่อง “ตู้ห่วงใย” บริการแพทย์ทางไกลเชิงรุกในชุมชน ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ 
"พงษ์ศักดิ์" ยื่นร้องกกต. ขอระงับรับรองผลเลือกตั้งนายกอบจ.ขอนแก่น ชี้พบเหตุหาเสียงส่อผิดกม.
“กฤษอนงค์” ไร้เงาคนยื่นประกัน นอนคุกคืนแรก ด้าน “บอสพอล” มอบทีมกม.ยื่นค้านประกันตัว
‘ทะเลสาบน้ำเค็ม’ โผล่กลางทะเลทรายในมองโกเลียใน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น