วันนี้ (1 มี.ค.66) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทวนความจำ “เปลี่ยนเกณฑ์กลางอากาศ” ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ล่าช้ามาเกือบ 3 ปีแล้ว จะจบอย่างไร ? ความล่าช้าเกิดจากการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลหลังจากปิดขายซองประกวดราคา จึงอยากให้ผู้ติดตามเรื่องนี้ได้ทบทวนความจำถึงการ “เปลี่ยนเกณฑ์กลางอากาศ” ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1
1. วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเชิญชวนหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) โดยเปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในวันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563
2. วันที่ 6 สิงหาคม 2563 หลังจากปิดขายเอกสาร RFP บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสาร RFP รายหนึ่งมีหนังสือขอให้ รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล
3. วันที่ 21 สิงหาคม 2563 รฟม. (โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562) มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี
รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจาก “เกณฑ์เดิม” ที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผ่านก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนให้ รฟม. หักด้วย เงินขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม.) ให้ รฟม. มากที่สุดก็จะชนะการประมูล เป็น “เกณฑ์ใหม่” ที่พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล