นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทย ห่วงใยประชาชนที่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งแก้ไขปัญหา PM 2.5 ตามแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566
นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ยกระดับเชิงปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้น ทั้งการปรับแผนเพิ่มตรวจสกัดรถควันดำ เข้มงวดเรื่องการก่อสร้าง ตรวจโรงงาน การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นจริงจัง ควบคู่ส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด (เช่น พืชทางการเกษตร วัชพืชต่าง ๆ ขยะ และการเผาป่า) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ หากเผา มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้มีการประกาศห้ามเผา ปี 2566 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือแล้วจนถึง 30 เม.ย. 66 ยกเว้นจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ประกาศห้ามเผาที่ในโล่งถึง 16 เม.ย. 66 อีกทั้งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command ในการยกระดับการลดการเผาอย่างเด็ดขาดในช่วงวิกฤต รวมทั้งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านโปรแกรม Burn Check เพื่อให้สามารถควบคุมจุดความร้อนได้ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานจนสูงเกินไป เพราะเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อน เป็นอีกปัจจัยและสาเหตุสำคัญของปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนและการปฏิบัติให้สอดคล้องทันกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนให้มากที่สุด
นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงาน GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) (วันที่ 11 มีนาคม 2566) ระบุไทยพบจุดความร้อนจำนวน 1,061 จุด ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 383 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 278 จุด พื้นที่เกษตร 192 จุด พื้นที่เขต สปก. 123 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 78 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 127 จุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา พบจุดความร้อนจำนวน 4,363 จุด สปป.ลาว 2,868 จุด กัมพูชา 1,182 จุด เวียดนาม 647 จุด และมาเลเซีย 32 จุด โดยสถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ซึ่งปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 นอกจากส่งผลกระทบกับสุขภาพประชาชนแล้วยังส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ด้วย ทั้งระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและ PM 2.5 นอกจากการบูรณาการร่วมมือร่วมใจกันภายในประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนผ่านกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด
ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฝึกซ้อมระดมพล ดับไฟป่าและจัดทำแนวกันไฟ 2 แผ่นดิน โดยส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันกับประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับพื้นที่บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านให้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและ PM 2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เช่น ประสานขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการใช้รถไฟฟ้า รวมถึงการปรับใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นและลดใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของทั่วโลกในการที่จะร่วมมือกันลดโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไปสู่การพัฒนาและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน