วันนี้ (14 มีนาคม 2566) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี ที่คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหาหม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและพวกรวม 13 คน
กรณีว่าจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 เป็นการหลีกเลี่ยง/ ไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ. 2535 พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC รายเดียว ว่า ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของบริษัทฯ อย่างมาก โดยเป็นการกล่าวหาในเรื่องกระทำการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง , สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และบีทีเอสยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด และมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย และทางบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน โดยบริษัทฯ ยืนยันว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปราศจากการฮั้วประมูลใด ๆ
ทั้งนี้บริษัทฯ ทราบว่าก่อนการจ้างในครั้งนี้ ทาง กทม.ได้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2550 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยโดยสรุปว่า การที่กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ บริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินโครงการ และบริษัทกรุงเทพธนาคม มาว่าจ้างเอกชนเดินรถ โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน มิใช่การร่วมลงทุนกับเอกชน นอกจากนั้นการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้ได้ผ่านการสอบสวน จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว โดยหลังสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้องบีทีเอส
นายคีรี กล่าวต่อว่า จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนว่า ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวก 13 คน ซึ่งปรากฏชื่อผมและบริษัทฯ ในความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบและความผิดฮั้วประมูล โดยในเนื้อข่าวมีการนำเสนอภาพเอกสารราชการของ ป.ป.ช.และอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวระดับสูงของ ป.ป.ช.
วันนี้จึงขอใช้พื้นที่สื่อแถลงข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจว่าเรื่องราวดังกล่าวการดำเนินคดีในเรื่องนี้ของ ป.ป.ช.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จากการที่ ส.ส.ท่านหนึ่งได้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและ ป.ป.ช. กล่าวหากรณีที่ กทม.ทำสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 โดยเบื้องต้นกล่าวหาว่า กทม.ไม่มีอำนาจดำเนินการ เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษในเวลานั้นได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้น และมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผมและบริษัทฯ เพราะจากพยานหลักฐานไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับผม และบริษัทเลย และพนักงานอัยการก็มีความเห็นไม่สั่งฟ้องไปแล้ว
“ส่วนคดีที่อยู่กับ ป.ป.ช. ผมไม่ทราบเรื่อง เพราะไม่เคยแจ้ง หรือเรียกไปให้ข้อมูล จนกระทั่งในช่วงเวลาที่ผมได้แสดงตัวต่อสู้กับเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ไม่ถูกต้อง ผมได้รับทราบข้อมูลจากคุณสุรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทฯ ว่า ป.ป.ช. ได้มีหนังสือเชิญไปให้ข้อมูลเรื่องหุ้นของบีทีเอสที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่มีการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถ ซึ่งเรื่องนี้ได้ชี้แจงกับ ป.ป.ช. แล้วว่า ราคาที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการรวมหุ้น นี่คือเรื่องเดียวที่บริษัท
โดยคุณสุรพงษ์ ได้ให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. และเราก็เริ่มมีความรู้สึกแปลก ๆ ว่า เรื่องนี้มันจบไปแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมยังมีการสอบถามเรื่องนี้อีก จนกระทั่งได้มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหามาที่ผมและผู้เกี่ยวข้อง”