อ.เขาสมิง จ.ตราด/การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด ได้บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ และเกษตรกรสวนผลไม้ ประกอบด้วย เกษตรจังหวัดตราด พณิชย์จังหวัดตราด และเกษตรกรที่ปลูกสวนผลไม้ในจังหวัดตราด ได้กำหนดจัดกิจกรรม “ผลไม้ตราด… อร่อยสะหงาดทั่วไทย” โดยได้มีการจัดงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ในวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ สวนผลอำไพ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราดเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตราดในช่วงฤดูผลไม้ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2566 สร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดตราดเพิ่มมากขึ้น โดยมีผลไม้และสวนผลไม้เป็นจุดขาย เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและเป็นการกระจายรายได้ในอีกทางหนึ่ง
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดตราด คือ “ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า เมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจเติบโต เกษตรปลอดภัย สิ่งแวดล้อม
ยั่งยืน” จังหวัดตราดมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ภาคเกษตร ร้อยละ 47 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 9 และภาคบริการ ร้อยละ 44 จะเห็นได้ว่า ภาคการเกษตรและภาคบริการ มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน และเกี่ยวเนื่องถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะฉะนั้น ปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดตราดที่สำคัญ จึงหมายรวมไปถึงการพัฒนา สินค้าทางการเกษตร ประมง และการบริการและการท่องเที่ยวผลไม้ตราด ถือเป็นอีก 1 ปัจจัยสำคัญที่เป็น Soft Power ในการทำให้ตราดเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ด้วยตราดเป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพ และมีรสชาติที่ดีมีการส่งออก หรือทำแปรรูปที่หลากหลาย กระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดได้อย่างเข้มแข็ง
“ในขณะเดียวกันก็มีเกษตรกรบางสวนได้การเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้แก่ นักท่องเที่ยวและเกษตรกรที่สนใจ เข้าไปเที่ยวชมหรือศึกษาหาความรู้ทางด้านการเกษตร ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการขายในอีกทางหนึ่งรวมทั้งการขายออนไลน์ การจัดแถลงข่าว “ผลไม้ตราด อร่อยสงาดทั่วไทย” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวตราดเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงปิดภาคเรียน และผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนมังคุด เงาะ ลองกอง เป็นผลไม้ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ เป็นอีกหนึ่งสินค้าทางการท่องเที่ยวที่เป็นเป็นจุดแข็งสำคัญของจังหวัดตราด”
นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด กล่าวว่า ผลไม้ตราดเป็นผลไม้คุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดตราดเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ปีนี้ ททท. ได้ร่วมกับสวนผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 16 สวน ได้แก่ สวนไพฑูรย์ สวนผลอำไพ สวนหนอนบุ้ง สวนนายอำเภอ สวนนายอาร์ทสวนเกษตรแปลงใหญ่ ท่ากุ่ม-เนินทราย บ้านสวนทุเรียน 100 ปีตราด สวนสละสมโภชน์ สวนสมโภชน์เกาะช้าง สวนวิโรจน์เกาะช้าง สวนลุงยาวเกาะช้าง สวนลุงหวังเกาะช้าง สวนคุณปู่เกาะช้าง สวนบุญศรีเกาะช้าง สวนทุเรียนเมืองตราด และสวนวุฒิพงษ์ ในการเปิดสวนและให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมสวน ซื้อสินค้า หรือสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดย ททท. สำนักงานตราดได้จัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายการท่องเที่ยว ดังนี้
1.การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ช้อปขั้นต่ำ 500 บาท (ไม่ร่วมค่าขนส่ง) รับส่วนลดทันที 100 บาทโดยมีสวนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 8 สวน ได้แก่ สวนผลอำไพ สวนนายอำเภอ สวนนายอาร์ท สวนเกษตรแปลงใหญ่ท่ากุ่ม-เนินทราย สวนสละสมโภชน์ สวนสมโภชน์เกาะช้าง สวนลุงยาวเกาะช้าง และสวนทุเรียนเมืองตราด
2.การเข้าชมสวนโดยที่เดินทางมาเอง สามารถรับสวนลดการเข้าชมสวน 100 บาทได้ที่สวน โดยมีสวนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 4 สวน ได้แก่ สวนไพฑูรย์ สวนผลอำไพ สวนนายอำเภอ และสวนสละสมโภชน์
3.นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้รับส่วนลดการเข้าร่วม 100 บาทเช่นกัน โดยมีบริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัทเกาะช้างเจนเนอร์เรชั่นทัวร์ บริษัทฮักสกายทัวร์ บริษัทเลิฟซีทราเวล บริษัทตราดเบิกบาน บริษัทกิ๊พบ็อกซ์ทราเวล และบริษัทเกาะช้างตราดทัวร์
นอกจากนี้ ททท. สำนักงานตราด ได้จัดทำการประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวถนนทุเรียน (Durian Road)ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนริมทะเลที่ทีเส้นทางที่สวยงาม เหมาะแก่การขับรถเที่ยวชมบรรยากาศ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดตราดในช่วงนี้ แวะเข้าชมสวนผลไม้ พร้อมทั้งลองชิมผลไม้เมืองตราดที่อร่อยสะหงาดแน่นอน
นายชยุตกฤติ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้มีการลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรสวนผลไม้ และร่วมกับภาคเครือข่าย ในกรสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องเพื่อให้กระบวนการการผลิตผลไม้ตราดเป็นผลไม้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช การติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืข การตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน เพื่อยกระดับผลไม้ตราดให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย รวมทั้งผลักดันการใช้ผึ้งชันโรงเป็นผู้ช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากจังหวัดตราดมีพื้นที่ปลูกผลไม้ที่หลากหลาย ทั้งบนฝั่งและเกาะช้าง จึงกำหนด Gimmick เส้นทางผลไม้ “Chim Rim Road” เส้นทางสายชิม ได้แก่ ชิมริมเล ถนนสายทุเรียนที่สวนลุงอี๊ด ชิมริมทาง ถนนสายมังคุด มังคุดดีที่หนองบอน ถนนเส้น 3299
ชิมริมสวน ถนนสายเงาะ เงาะดีที่บำโรณ ถนนเส้น ตร.401 – และชิมริมเกาะ ชิมทุเรียนดี ชะนีเกาะช้าง
ภาพ/ข่าว จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ ผู้สื่อข่าว ประจำ จ.ตราด