ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยยืนยันว่า เป้าหมายการให้วัคซีนไฟเซอร์แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ประสงค์ได้รับ จะได้รับทุกรายตามเกณฑ์ สำหรับบคุลากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในในรอบการส่งรอบแรก ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักอนามัย สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งรายชื่อมายังกระทรวงสาธารณสุข ส่วนคลินิกเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งได้ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งขอยืนยันว่าวัคซีนไม่ได้สูญหายไปไหน มีความโปร่งใสตรวจสอบได้
สำหรับกรณีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ซึ่งรอบแรกได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไม่เพียงพอ ก็ได้จัดส่งไปครบถ้วนแล้ว ส่วนกรณีโรงพยาบาลขอนแก่น การจัดส่งได้มีหลักเกณฑ์ตามที่ได้ประชุมไปแล้ว ซึ่งเราวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่า จะต้องส่งเป็นรอบๆ ไม่ใช่ส่งไปในครั้งเดียว เพราะหากส่งไปครั้งเดียวในปริมาณที่สูง การบริจัดการที่จัดเก็บการแช่เย็น การเอามาผสมจะยากกว่าวัคซีนตัวอื่น นอกจากนี้การสำรวจข้อมูลก่อนที่จะจัดส่ง เรามีหลักเกณฑ์ที่จะดู และส่งข้อมูลไป อาจจะมีส่วนที่ตกหล่น และก็แจ้งเพิ่มเติม รอบการจัดส่งต่อไปก็จะตรงวัตถุประสงค์มากขึ้น ฉะนั้นอย่าเพิ่งด่วนสรุป หรือว่าเสียกำลังใจ บุคลากรด่านหน้าทุกคนที่ประสงค์จะได้ ก็สามารถที่จะได้รับวัคซีน
ส่วนกรณีที่ยังมีอีกหลายจังหวัดได้รับจัดสรรวัคคซีนไฟเซอร์สำหรับบคุลากรการแพทย์น้อยกว่าจำนวนที่ส่งรายชื่อเข้ามานั้น นายแพทย์เฉวตสรร ชี้แจงว่า ข้อสั่งการแนวทางที่ได้ชี้แจงไปในเครือข่าย เข้าใจว่าผู้รับผิดชอบก็คงรับทราบ แต่บุคลากรหรือบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งหลักเกณฑ์ว่าจะจัดสรรเท่าไหร่นั้น 1.เราดูฐานข้อมูลว่า บุคลากรมีการฉีดวัคซีนเท่าไหร่ 2.สำรวจบุคลากรที่มีควาประสงค์รับไฟเซอร์มีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งรอบแรกอาจจะมีตกหล่นได้ ทั้งนี้หากแจ้งจำนวนของบุคลากรที่จะรับไฟเซอร์ต่ำกว่า 50% เราจะจัดสรรปริมาณ 50% เต็ม เพราะบางส่วนอาจจะมีข้อมูลเพิ่มเติม แต่หากอยู่ระหว่าง 50-75% เราจะจัดส่งให้ตามเปอร์เซนต์ที่ขอมา แต่หากจังหวัดใดที่เกิน 75% เราจะส่งให้ในเบื้องต้นก่อน 75% ฉะนั้นจังหวัดที่ขาดจะเป็นกรณีที่ส่งรายชื่อเข้ามาเกิน75%
นายแพทย์เฉวตสรร ยังย้ำว่า วัคซีนไฟเซอร์ผสมน้ำเกลือ ไม่ได้ผสมน้ำเปล่า ซึ่งแนวทางการผสมวัคซีนเป็นไปตามสูตรที่บริษัทวัคซีนกำหนดมา และทำเหมือนกันทุกประเทศ โดยวัคซีนไฟเซอร์เป็นชนิด mRNA เป็นเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ และต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ฉะนั้นลักษณะวัคซีนก็จะมีความเข้มข้น จึงต้องผสมน้ำเกลือ ทั้งนี้วัคซีนแต่ละขวดจะผสมน้ำเกลือ 1.8 ซีซี จากนั้นจะกลับขวดไปมา 10 รอบช้าๆ ส่วนเรื่องอุณหภูมิจะมีความสำคัญมาก เมื่อไหร่ที่เราจะฉีด ก็ต้องนำออกมาจากตู้แช่แข็ง ซึ่งจะมีเวลาฉีดให้หมดภายใน 6 ชั่วโมง ฉะนั้นการบริหารคนที่จะมาฉีดวัคซีนมีความสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นเราก็จะเสียวัคซีนทิ้ง
นายแพทย์เฉวตสรร เปิดเผยด้วยว่า การจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์เริ่มส่งมาตั้งแต่วันที่ 3 และ 4 สิงหาคม 2564 เริ่มฉีดวันที่ 4 สิงหาคม เป็นต้นมา และวันนี้จะเริ่มส่งวัคซีนไฟเซอร์ให้กับโรงพยาบาลจังหวัดสีแดงเข้ม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี อยุธยา ยะลา สงชลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพื่อฉีดเข็มที่ 1 ในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ จากนั้นอีก 3 สัปด์ จะนัดฉีดเข็มที่ 2
สำหรับตัวเลขการฉีดวัคซีนสtl,อยู่ที่ 21,171,110 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 16,336,743 ราย จำนวนนี้เป็นไฟเซอร์ 33,219 ราย เข็มที่ 2 4,566,345 ราย เป็นไฟเซอร์ 13,622 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 268,022 ราย เป็นไฟเซอร์ที่ฉีดบูสเตอร์โดส 82,993 ราย สรุปตัวเลขวัคซีนที่ฉีดในประเทศไทยขณะนี้ เป็นวัคซีนซิโนแวค 10,269,135 ราย วัคซีนแอสตราเซเนกา 92,30,417 ราย วัคซีนซิโนฟาร์ม 1,541,724 ราย วัคซีนไฟเซอร์ 129,834 ราย