29 มีนาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน เรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน
ฉบับที่ 10 (89/2566) (มีผลกระทบถึงวันที่ 29 มีนาคม 2566)
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้แล้ว ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2566 โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้
วันที่ 29 มีนาคม 2566
ภาคเหนือ:
จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:
จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง:
จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา
รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก:
จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 05.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.
สำหรับพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง