สืบเนื่องจาก นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาให้ความเห็นถึงประเด็นปัญหาค่าไฟฟ้า โดยระบุถึงสาเหตุปัญหาว่าประเด็นสำคัญมาจากการใช้เกณฑ์คำนวณราคาที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะตัวเลขอ้างอิงเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว LNG
“เมื่อพิจารณาถึงค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง รวมค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จากการชะลอขึ้นค่าดอกเบี้ยของสหรัฐ แต่ภาครัฐกลับใช้สมมติฐานของเดือน ม.ค.ที่ไม่อัพเดตกับภาวะขาลงของราคาพลังงาน ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับตัวเลขค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง จึงอยากจะถามภาครัฐว่าทำเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์ รวมถึงอยากฝากให้ไปปรับวิธีการคำนวณต่องวดเหลือ 2 เดือนเพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีความแม่นยำมากขึ้น”
พร้อมย้ำว่า “ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายราย มีผลประกอบการที่มีกำไรและเติบโตกันอย่างถ้วนหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ กฟผ. รัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศเหลือสัดส่วน 30 % เท่านั้น และเป็นฝ่ายแบกภาระยอดหนี้คงค้างจ่ายคืน ราว 1 แสนล้านบาท”
ขณะที่นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า กฟผ.ไม่ใช่ผู้ผลิตหลัก แต่พยายามคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน และแบกรับภาระหนี้สินมาโดยตลอด
“ค่าไฟฟ้าที่แพงเกิดจากมีกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูง เนื่องจากมีการเอื้อให้โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ดูสัดส่วนหรือความต้องการไฟฟ้าที่เหมาะสม ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้านั้น เอกชนมีถึง 70 % ขณะที่ กฟผ.มีราว 30 % เท่านั้น”